Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การตอบสนองต่อพฤติกรรมของเด็กอย่างเหมาะสม
การตอบสนองต่อพฤติกรรมของเด็กอย่างเหมาะสม
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

        พฤติกรรม หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่บุคคลกระทำ ทั้งในทางที่ดี ไม่ดี ถูก ผิด มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ มีประสิทธิภาพ หรือสูญเปล่า (Charles, 2002: 2) พฤติกรรมเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวินัยในตนเองอย่างใกล้ชิด ครูที่ต้องการสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กจำเป็นต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมของเด็ก เพื่อให้ครูสามารถปฏิบัติต่อเด็กได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติของครูอย่างเหมาะสมเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับ และแสดงพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับ
        การตอบสนองของครูต่อเด็กที่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับนี้ ครูต้องคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวที่มีต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กมากกว่าการคำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด รวมทั้งควรใช้เป็นโอกาสสอนให้เด็กเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วย โดยคำถามที่ครูควรนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจของครูในการตอบสนองต่อเด็ก คือ ตอบสนองอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กหรือไม่ ตอบสนองโดยการปฏิบัติอย่างเป็นส่วนตัวกับเด็กที่แสดงพฤติกรรมหรือไม่ ตอบสนองโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้นหรือไม่ ตอบสนองบนพื้นฐานของความรักและความห่วงใยแต่ไม่ยอมรับเฉพาะการกระทำของเด็กหรือไม่ และตอบสนองโดยรู้ความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือไม่ (Brewer, 2004: 174) การตอบสนองต่อเด็กอย่างเหมาะสมเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับ มีแนวปฏิบัติดังนี้

        1) เบี่ยงเบนความสนใจของเด็กก่อนที่เด็กจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับ ครูไม่ควรรอให้พฤติกรรมนั้นล่วงเลยเป็นพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับ หากเริ่มสังเกต เห็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าอาจเกิดปัญหาก็เข้าไปแทรกแซง ไปร่วมเล่นกับเด็กและเปลี่ยนทิศทางการเล่นไปเล็กน้อย เช่น ขณะที่เด็กเล่นสมมุติขับรถด้วยกันและเริ่มมีเสียงดังขึ้น ครูอาจเข้าไปบอกว่า "เอ้า! จอดรถซื้อของกันก่อนดีไหม" เด็กจะหันมาสนใจและไม่ล่วงเลยไปจนมีปัญหาพฤติกรรม หรือแม้ในกรณีที่เด็กทะเลาะกันครูอาจหยิบหมวกตำรวจมาสวมและพูดว่า "ตำรวจมาแล้วครับ หยุดทะเลาะกันก่อนนะครับ ชาวบ้านแจ้งว่าหนวกหู" เด็กจะหายเครียดและสนุกที่ครูเข้ามาเล่นกับเขา ด้วยวิธีการเช่นนี้ครูสามารถช่วยเด็กได้โดยเด็กไม่ต้องต้องอับอายหรือเสียหน้า และวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลเสมอในการตอบสนองต่อสถานการณ์เช่นนี้ คือ การแก้ไขปัญหาผ่านการเล่นของเด็ก (Leatzow et al., 2542: 140-141)

        2) การเพิกเฉย จะใช้ได้ดีในสถานการณ์ที่เด็กทำผิดโดยไม่เจตนา เช่น ลืม หรือตื่นเต้นตกใจจนทำบางอย่างผิดพลาด เมื่อปัญหานั้นไม่รุนแรงหรืออันตราย เมื่อเด็กทำผิดเป็นครั้งแรกและพิจารณาแล้วว่าเด็กไม่คิดจะทำอีก เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น แผดเสียง ร้องไห้ โดยไม่มีเหตุผล หรือเมื่อครูกำลังหมดความอดทนกับเด็ก อยากเข้าไปจัดการ หรือต่อล้อต่อเถียงกับเด็ก การเพิกเฉยทำได้โดยไม่ให้ความสนใจไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำกับการแสดงออกของเด็ก ในระยะแรกเด็กอาจพยายามทำพฤติกรรมเหล่านี้ซ้ำๆ อีก หากครูยังยืนยันไม่ให้ความสนใจ และเพิกเฉยให้ได้จริงๆ โดยไม่หันกลับมายอมแพ้เด็กด้วยการลงโทษเด็กในที่สุด เด็กจะไม่ได้ความพอใจจากการแสดงพฤติกรรมดังกล่าว และหยุดแสดงพฤติกรรมในที่สุด ทั้งนี้ ครูไม่ควรเพิกเฉยเมื่อเด็กกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่ออันตรายพฤติกรรมของเด็กเป็นการทำร้ายให้คนอื่นบาดเจ็บ หรือพฤติกรรมของเด็กที่แสดงการใช้อำนาจกับครู เช่น การที่เด็กใช้เสียงกร้าวพูดว่า "หนูไม่ทำ ถ้าครูอยากให้หนูทำ ก็ทำเองสิ" การเพิกเฉยเป็นวิธีที่ได้ผลช้า แต่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดปัญหาพฤติกรรม ครูจำเป็นต้องใช้ความอดทนให้มาก ต้องใช้พลังใจอย่างแรงกล้า เพราะการต้องเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เป็นเรื่องที่ทำได้ยากที่สุด (นวลศิริ เปาโรหิตย์, ม.ป.ป.: 86-87; วัชรี ธุวธรรม, 2528: 10-12)

        3) การเสนอวิธีการทางบวกให้เด็กเลือก พฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของเด็กส่วนใหญ่จะแก้ไขโดยจัดทางเลือกอื่นให้ทำถ้าครูเข้าใจเด็กได้ดีมากเท่าไรจะหาทางเลือกที่เหมาะสมกับเด็กได้มากขึ้นเท่านั้น เมื่อเด็กคับข้องใจหรือไม่พอใจอะไรมักแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ถ้าครูสามารถหากิจกรรมที่เด็กสนใจ ทำให้เขาสงบลง หรือคลายความเครียดได้บ้าง ครูมักจะแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้สำเร็จ ทั้งยังดึงให้เขามาร่วมในกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดทัศนะต่อตนเองในทางดีเพิ่มขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่นการจัดมุมที่เด็กสนใจเพิ่มขึ้น ในกรณีที่ครูไม่อาจจัดกิจกรรมที่เหมาะกับความสนใจเฉพาะของเด็กแต่ละคนได้ ครูอาจช่วยให้เด็กสงบช่วยระบายความเครียด และความรู้สึกไม่มั่นคงของเด็ก ได้โดยผ่านกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การเล่นน้ำ การกอดตุ๊กตานิ่มๆ การปั้นแป้งโด การไปเดินเล่น การทำงานศิลปะสร้างสรรค์ ฯลฯ ดังนั้น การจัดหาทางเลือกให้เด็กจึงสามารถทำได้ทุกเวลาถ้าครูใช้ความคิดอย่างเหมาะสม (Leatzow et al., 2542: 137)

        4) การให้ข้อเสนอแนะที่ชัดเจน ครูที่ส่งเสริมวินัยในตนเองต้องไม่บอกแต่ข้อผิดพลาดของเด็ก แต่ต้องให้ข้อเสนอแนะที่ชัดเจนด้วย โดยพยายามหาคำอื่นมาใช้แทนคำปฏิเสธ เช่น อย่า ห้าม ไม่ได้ หรือ หยุดนะ เช่น ใช้คำว่า "เดินไปปลอดภัยกว่า" แทน "ห้ามวิ่ง" "พูดเบาๆ ในห้องเรียน" แทน "หยุดตะโกนเดี๋ยวนี้" "ลองหาวิธีอื่นสิ" แทน "ห้ามทำอย่างนี้" เมื่อเด็กปีนขึ้นไปที่สูง แทนที่ครูจะพูดว่า "ปีนสูงเกินไปแล้ว" ควรเปลี่ยนเป็น "ครูไม่ค่อยสบายใจเลยพอหนูปีนสูงๆ อย่างนั้น ลงมาข้างล่างดีกว่านะ" หากเด็กทำสิ่งที่ผิดพลาดไป ครูควรให้เด็กรู้ และบอกให้ชัดเจนว่าเด็กทำผิดพลาดอย่างไร และควรทำสิ่งใดแทน (Leatzow et al., 2542: 127)

        5) การให้เด็กได้รับผลที่สัมพันธ์ และสมเหตุสมผลกับการกระทำ วิธีการของ Dreikurs ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาทางสังคมที่ได้เสนอวิธีปฏิสัมพันธ์ของครูให้เด็กรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตนเองด้วยเทคนิคการให้เด็กได้รับผลที่สัมพันธ์และสมเหตุสมผลกับการกระทำ (สมจิตต์ สุวรรณวงศ์, 2542: 32-34) ด้วยเทคนิค 2 เทคนิค ดังนี้

            5.1) การให้เด็กได้รับผลตามธรรมชาติจากพฤติกรรมที่เด็กกระทำ (Natural consequences) เป็นการให้เด็กได้รับประสบการณ์จากผลที่เกิดตามมาตามธรรมชาติ เทคนิคนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมเมื่อผลตามธรรมชาตินั้นไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เช่น เด็กทำขนมตกเพราะไม่ระมัดระวังก็อดรับประทานขนม ดูเหมือนว่าการให้ผลตามธรรมชาติจะดูง่ายๆ แต่เป็นวิธีที่ครูต้องบังคับใจตนเอง เพราะครูต้องยอมให้เด็กเกิดความรู้สึกผิดหวัง โกรธ หรือไม่มีความสุข และต้องอดกลั้นที่จะไม่พูดกับเด็กว่า "ครูบอกหนูแล้วนะ"

            5.2) การให้เด็กได้รับผลที่สัมพันธ์ และสมเหตุสมผลกับพฤติกรรมที่เด็กกระทำ (Logical consequences or related consequences) บางครั้งครูอาจต้องตัดสินให้เด็กได้รับผลที่เกิดตามมา เช่น ถ้าเด็กทำร้ายใครสักคน อาจให้เด็กเสียโอกาสที่จะเล่นกับเด็กคนนั้น หรืองดเล่นในบริเวณนั้น การใช้ผลที่เกิดตามมาในลักษณะนี้ต้องต่อเนื่องสัมพันธ์กับการกระทำ สมเหตุสมผล ยุติธรรม และมีความสัมพันธ์กับการกระทำนั้นอย่างชัดเจน ครูต้องใจเย็น ไม่ใช้อารมณ์และสนทนากับเด็กด้วยคำพูดง่ายๆ เช่น "หนูปาหนังสือออกจากชั้น หนูต้องเก็บหนังสือ กลับมาไว้ที่ชั้นตามเดิม" หรือ "หนูทำน้ำหก หนูต้องเอาผ้ามาเช็ด"

        เมื่อใดที่ครูลงโทษเด็ก เด็กจะคิดสนใจแต่การที่เขาถูกลงโทษ เด็กอาจรู้สึกอับอายที่ถูกลงโทษ รู้สึกหมดหวัง ท้อถอย รู้สึกโกรธ หรือเป็นสุขเพราะได้รับความสนใจจากครู แต่ถ้าครูชี้ให้เห็นผลของการกระทำ เด็กจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมและการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดของการให้เด็กได้รับผลที่สมเหตุสมผลกับการกระทำกับการลงโทษเด็กคือ ทัศนคติของครูที่มีต่อพฤติกรรมดังกล่าว

        6) การสอนให้เด็กแก้ไขความผิดพลาดของตนเอง นอกจากจะสอนเด็กว่าพฤติกรรมใดควรทำ พฤติกรรมใดไม่ควรทำแล้ว ควรสอนให้เด็กสำนึกผิดและทำการแก้ไขพฤติกรรมที่ทำลงไป เป็นการสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ แก้ไขความผิดพลาดของตน การฝึกให้เด็กมีพฤติกรรมแก้ไข เช่น เด็กทำของเล่นของเพื่อนหลุด ก็ต้องขอโทษ และช่วยกันประกอบใหม่ให้ดี เด็กทำอาหารหกเลอะเทอะ ก็ต้องเช็ดทำความสะอาด เมื่อเด็กแก้ไขแล้วควรบอกให้เด็กรู้อีกครั้งว่า พฤติกรรมที่ไม่ดีคืออะไร แนวทางแก้ไขคืออะไร เมื่อทำเช่นนี้บ่อยๆ ทีละน้อย เด็กจะซึมซับความเข้าใจว่า การทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด การทำลาย นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้าพลั้งเผลอทำไปแล้วต้องแสวงหาวิธีการแก้ไขเสมอ ความรู้สึกเช่นนี้ก็จะติดตัวไปตลอด (นวลศิริ เปาโรหิตย์, ม.ป.ป.: 114-115)

        7) การให้ความสำคัญต่อเหตุผล ทุกคนต้องการมีความคิดต่อตนเองในด้านดี เด็กที่มีพฤติกรรมขัดแย้งกับผู้อื่นอยู่เสมอก็ไม่อาจพอใจในตนเองได้อย่างแท้จริง ดังนั้นความคิดรวบยอดเกี่ยวกับตนเองและผู้อื่นจึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันตลอด ครูที่เห็นความสำคัญของการสร้างความคิดต่อตนเองในทางดีนั้นมักไม่สนใจห้ามหรือยุติพฤติกรรมเท่ากับพยายามหาเหตุผลที่ทำให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว เหตุผลนั้นอาจแจ่มแจ้งหรือคลุมเครือ แต่ครูที่พยายามสร้างความงอกงามให้แก่เด็กจะพยายามอย่างยิ่งเพื่อหาสาเหตุที่ซ่อนอยู่ภายใต้ปัญหาดังกล่าว ครูอาจต้องตรวจสอบดูเงื่อนไขต่างๆในโรงเรียนที่จะส่งเสริมเงื่อนไขในทางที่ดีให้เกิดขึ้น (Leatzow et al., 2542: 134-135)

        ครูควรใช้วิจารณญาณเองว่า เมื่อใดควรใช้วิธีการใด เพราะทุกสถานการณ์ล้วนไม่มีกฎตายตัว สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ การลงโทษ ทั้งนี้ ฉันทนา ภาคบงกช (2546: 1) กล่าวว่า เรามักจะคาดว่าการลงโทษเป็นการช่วยให้เด็กทำในสิ่งที่ดีขึ้นในครั้งต่อไป แท้จริงแล้วการลงโทษกลับทำให้เด็กมีความรู้สึกที่เลวร้ายเกี่ยวกับตนเอง ซึ่งจะขัดขวางการพัฒนาวินัยในตนเอง และไม่ช่วยให้เด็กดีขึ้นในครั้งต่อไป ผู้ใหญ่ที่ยึดถือการลงโทษเป็นสรณะ เพราะผู้ใหญ่ไม่ได้เรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ของตนได้ด้วยตนเอง รวมถึงไม่เข้าใจว่าเด็กเรียนรู้ได้อย่างไร จึงมักนำความโกรธ ความรัก และความหวังดีมาปะปนกันเพื่อใช้ในการปกครองเด็ก ดังนั้น การลงโทษจึงไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสอนวินัย ซึ่งสอดคล้องกับที่ Brewer (2004: 172) กล่าวไว้ว่าการลงโทษจะส่งผลทางลบต่อเด็กในระยะยาว การลงโทษถือเป็นวิธีการที่ไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเอง เด็กที่ถูกลงโทษเป็นการกระทำที่ทำให้เด็กควบคุมพฤติกรรมของตนเองเพราะกลัวการลงโทษ ความรู้สึกของเด็กไม่ได้รับการยอมรับนับถือ เด็กจะเรียนรู้ว่าเขาทำความผิด และไม่สามารถควบคุมตนเองได้

การตอบสนองต่อเด็กอย่างเหมาะสมเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับ
        ครูควรแสดงให้เด็กเห็นอย่างชัดเจนว่าครูเห็นคุณค่าของการปฏิบัติของเด็กเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ดีซึ่งเป็นที่ยอมรับ (ฝ่ายการศึกษาในโรงเรียนของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, ม.ป.ป.: 271) เทคนิคที่ครูสามารถนำมาใช้ในการตอบสนองต่อเด็กเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับ คือ การให้กำลังใจ จิตใจของเด็กต้องการกำลังใจ เสมือนกับที่ร่างกายต้องการอาหาร การให้กำลังใจเด็ก หมายความว่า ครูศรัทธาในตัวเด็กและสื่อให้เขารู้ว่าครูศรัทธาในคุณค่า และความสามารถของเขา ครูจึงควรพยายามสังเกตพฤติกรรมที่ดีในตัวเด็ก อย่าเป็นครูที่คอยแต่จะจ้องจับผิดเด็ก ทุกครั้งที่เด็กทำดี อย่าปล่อยให้การทำความดีของเขาผ่านไปโดยครูไม่สนใจ ครูอาจเพียงสบตา ยิ้ม หรือพูดชื่นชมให้กำลังใจต่อพฤติกรรมที่ดีนั้นๆ วิธีการพูดชื่นชมให้กำลังใจเด็กนั้นไม่ควรแค่พูดชมว่าดี แต่ควรพูดให้เด็กรู้ทางอ้อมว่าเขาควรทำ หรือไม่ควรทำอะไร โดยระบุให้ชัดเจนเป็นเรื่องๆ ในสิ่งที่เด็กทำจริง พูดให้ตรงจุด ไม่ยกยอเด็ก เช่น พูดว่า "พวกหนูน่ารักจังที่เล่นด้วยกันดีๆ ไม่แย่งของเล่นกัน" แทน "พวกหนูน่ารักจัง" พูดว่า "แหม! ทำงานกันดีจริงๆ หนูส่งบล็อกให้ปาล์ม แล้วปาล์มก็เอาไปทำถนน ทำงานให้ดีต่อไปนะ" แทน "ดีจังเลย" พูดว่า "หนูใจดีมากเลยที่แบ่งตุ๊กตาให้เพื่อนเล่นด้วย" แทน "ใจดีจัง" พูดว่า "ขอบใจนะจ๊ะที่ช่วยครูเก็บหนังสือ และหยิบหนังสือเบาๆ" แทน "เก่งจังเลยที่ช่วยครูเก็บหนังสือ" พูดว่า "หนูระบายสีสดใสดีจัง" แทน "สวยจัง" พูดว่า "คงทำยากมากเลย หนูต้องอดทนมากๆ ถึงทำเสร็จ" แทน "เก่งจัง" เป็นต้น การกระตุ้นที่เป็นไปได้และเน้นที่การทำงานหรือพฤติกรรม ซึ่งเป็นการให้กำลังใจเช่นนี้ ทำให้เด็กเข้าใจดีขึ้นถึงสิ่งที่เขาสามารถทำได้และช่วยให้เด็กรู้สึกว่าตนมีความสามารถด้วย ช่วยให้เด็กทำพฤติกรรมที่ดีบ่อยครั้งขึ้น เมื่อเด็กทำบ่อยๆ จะเกิดความเคยชิน เด็กจะทำดีเพราะเขารู้สึกชอบที่จะทำด้วยตนเอง (นวลศิริ เปาโรหิตย์, ม.ป.ป.: 75-82; Leatzow et al., 2542: 130)

        ข้อควรระวังในการใช้คำชม คือ เด็กไม่ควรมีลักษณะเหมือนถังรองรับคำชม ที่จะต้องได้คำชมกับทุกอย่างที่เขาทำ การที่ครูแสดงพฤติกรรมที่ดูจะไร้ความหมาย เช่น ยิ้ม ชมเชย ลูบศีรษะเด็ก พูดจาในทำนอง "น่ารัก" "ดี" "สวย" "เก่ง" แต่เป็นการพูดแบบเลื่อนลอย ไม่ได้ตอบสนองเด็กแต่ละคนแบบเฉพาะเจาะจง เป็นเพียงการแสดงตามบทบาทหน้าที่ กลับเป็นแบบอย่างที่แสดงถึงความไม่จริงใจ และความตื้นเขินทางปัญญาของครู (Leatzow et al., 2542: 113) ครูควรส่งเสริมให้เด็กเกิดความพอใจในผลงานหรือการกระทำของตนโดยชี้ให้เด็กเห็นผลจากการกระทำของเด็ก เพื่อให้เด็กมีทัศนะว่างานและการรับรู้ในความสำเร็จของงานนั้นทำให้เกิดความสุขในตนเอง และการใช้คำชมควรใช้เป็นครั้งคราวและเฉพาะเจาะจง ครูควรรู้สึกและหมายความตามที่ครูพูดจริงๆ ไม่ใช่พูดชมเพื่อบังคับให้เด็กทำอะไร หรือแกล้งชมเด็กคนหนึ่งเพื่อให้อีกคนทำบ้าง เพราะเด็กทั้งคู่จะรู้สึกไม่ดีพอๆ กัน


*** บทความนี้สามารถดาวน์โหลดไฟล์รูปแบบ pdf ได้ ***



ความคิดเห็นผู้ใช้

เสนอแนะโดย fon26 เปิด 2011-07-21 14:56:53
บทความนี้ดีจังคะ แต่กับตัวเองเวลาที่เด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็มักจะทำโทษเด็กคงต้องปรับปรุงตัวเองเสียแล้วกระมัง

Please login or register to add comments