Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย
การจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

การประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย
        การประเมินพัฒนาการทางภาษาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยด้านภาษา เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการจัดประสบการณ์ แนวทางการประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัยตามสภาพจริง (Tompkins, 1997: 440) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ใช้เครื่องมือการประเมินที่เหมาะสมกับธรรมชาติของการเรียนรู้ภาษาของเด็ก ครูต้องศึกษาพัฒนาการด้านการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียนของเด็ก แล้วนำหัวข้อเหล่านี้มาสร้างเป็นตัวบ่งชี้(Indicators) ในเครื่องมือการประเมิน กล่าวคือตัวบ่งชี้ในเครื่องมือการประเมินพัฒนาการทางภาษาต้องสอดคล้องกับพัฒนาการทางภาษาและธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของเด็กนั่นเอง

2. ใช้เครื่องมือในการประเมินที่หลากหลาย การประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย ควรเป็นการประเมินแบบไม่เป็นทางการ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในการประเมินที่เหมาะสม คือ การสังเกตหรือการสนทนากับเด็ก แล้วบันทึกอย่างเป็นระบบ วิธีการบันทึกอาจใช้วิธีการสำรวจรายการ การจดบันทึกพฤติกรรม หรือมาตราส่วนประเมินค่า อาจใช้วิธีการบันทึกวีดิทัศน์ บันทึกเสียง เก็บตัวอย่างงาน หรือใช้พอร์ทโฟลิโอ (Portfolio) ทั้งนี้ ครูควรเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือในแต่ละประเภท และเลือกใช้เครื่องการประเมินที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถสะท้อนการเรียนรู้ภาษาของเด็กอย่างแท้จริง(Ratcliff, 2001: 68)

3. บูรณาการการสอนกับการประเมิน การประเมินถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์ การประเมินอย่างต่อเนื่องทำให้ครูทราบพัฒนาการทางภาษาของเด็ก เข้าใจเด็ก และรู้ว่าจะพัฒนาเด็กอย่างไรต่อไป งานที่สำคัญของครูในส่วนนี้คือ ครูต้องทบทวนว่าจะประเมินพัฒนาการทางภาษาในตัวบ่งชี้ใด โดยเลือกใช้เครื่องมือประเมินชนิดใดในช่วงเวลาใดในกิจกรรมประจำวันที่จัดขึ้น การวางแผนการประเมินที่เหมาะสมและยืดหยุ่นได้จะช่วยให้ครูสามารถจัดประสบการณ์โดยทำการประเมินควบคู่กันไปได้อย่างราบรื่น

4. เน้นที่ความก้าวหน้าของเด็ก ในการประเมินพัฒนาการทางภาษาครูควรบันทึกสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ เพื่อเป็นการประเมินความก้าวหน้าของเด็ก ไม่ควรมุ่งสังเกตสิ่งที่เด็กยังไม่สามารถทำได้ การทราบสิ่งที่เด็กสามารถทำได้จะช่วยให้ครูสามารถแนะนำ สนับสนุนให้เด็กก้าวไปสู่พัฒนาการทางภาษาในขั้นที่สูงขึ้นได้ การเน้นที่ความก้าวหน้าของเด็กนี้ถือเป็นการวินัยฉัยและช่วยแก้ปัญหาให้แก่เด็กได้เป็นอย่างดี

5. ให้ความสนใจทั้งกระบวนการและผลผลิต ขณะที่เด็กร่วมกิจกรรมทางภาษาครูควรให้ความสนใจกับกระบวนการในการใช้ภาษาของเด็ก เช่น ขณะที่เด็กกำลังลงชื่อมาโรงเรียน เมื่อครูสังเกตกระบวนการทำงานของเด็ก จะพบว่าเด็กบางคนใช้วิธีคัดลอกชื่อของตนโดยมองจากชื่อที่ปักที่เสื้อ ทำให้ผลงานการเขียนมีลักษณะกลับหัว บางคนอาจเขียนได้อย่างคล่องแคล่วจากความจำของตนเองโดยที่ผลผลิตมีลักษณะใกล้เคียงกับคนที่เขียนโดยการคัดลอกจากแบบที่ครูเตรียมไว้ หากไม่สังเกตกระบวนการย่อมทำให้ครูไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเด็กได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามครูควรให้ความสนใจและควรตรวจสอบทั้งกระบวนการและผลผลิตด้านการใช้ภาษาควบคู่กันไป

6. ประเมินจากบริบทที่หลากหลาย ครูจำเป็นต้องประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กจากบริบทที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ผลการประเมินที่ตรงตามสภาพจริงของเด็ก การด่วนสรุปจากบริบทใดบริบทหนึ่งอาจทำให้ไม่ได้ผลการประเมินที่แท้จริง เนื่องจากเด็กอาจจะทำกิจกรรมในบริบทหนึ่งได้ดีกว่าอีกบริบทก็ได้

7. ประเมินเด็กเป็นรายบุคคล การประเมินพัฒนาการทางภาษา ครูต้องเฝ้าสังเกตเด็กแต่ละคน เพื่อให้รู้จักเด็กเป็นรายบุคคล การประเมินเป็นรายบุคคลนอกจากจะทำให้ครูทราบความก้าวหน้าทางภาษาของเด็กแล้ว ยังช่วยให้ครูทราบความสนใจ ทัศนคติ ความคิด ฯลฯ เกี่ยวกับเด็ก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนการช่วยเหลือสนับสนุนเด็กได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

8. ให้เด็กมีโอกาสประเมินตนเอง เด็กควรได้รับการกระตุ้นให้คิดไตร่ตรองเพื่อประเมินความก้าวหน้าของตนเอง การที่เด็กมีส่วนร่วมในการติดตามความก้าวหน้าของตนเอง จะช่วยให้เด็กภูมิใจ และเกิดความต้องการที่จะพัฒนาตนเองต่อไป โดยครูอาจนำพอร์ทโฟลิโอของเด็กมาใช้ในการให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการประเมินตนเอง

การจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่พูดภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่ง
        "ภาษาถิ่น" เป็นภาษาย่อย (Variety of Speech) ที่พูดในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง และมีความแตกต่างทางด้านเสียง คำศัพท์ และไวยากรณ์จากภาษาย่อยที่พูดในบริเวณอื่น (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2543: 2) ภาษาถิ่นตระกูลไทที่ใช้พูดกันโดยทั่วไปในประเทศไทยแบ่งออกเป็นภาษาถิ่นสำคัญ 4 ถิ่น ได้แก่ 1) ภาษาถิ่นไทยกลาง ประกอบด้วยภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ ซึ่งจัดว่าเป็นภาษาไทยมาตรฐานที่ใช้ในทางราชการ ภาษาไทยถิ่นตะวันตก ภาษาไทยถิ่นตะวันออก ภาษาไทยถิ่นสุโขทัย และภาษาไทยถิ่นโคราช 2) ภาษาไทยถิ่นใต้ 3) ภาษาไทยถิ่นอีสาน 4) ภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาไทยถิ่นอื่นๆ ได้แก่ ภาษาไทยดำ ภาษาไทยพวน ภาษาผู้ไทย ภาษานครไทย ภาษาตากใบ ฯลฯ (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2543: 27-29) ซึ่งแต่ละภาษาถิ่นมีความแตกต่างกันทั้งในด้านการออกเสียง ระบบเสียง ความหมาย และไวยากรณ์
        เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ใช้ภาษาถิ่น จะเรียนรู้ภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่งหรือเรียกว่าภาษาแม่ แต่เมื่อเด็กเข้าโรงเรียน ต้องอยู่ในบริบทของการใช้ภาษาไทยกลางซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ ภาษาไทยกลางจึงเป็นภาษาที่สองที่เด็กต้องเรียนรู้ เด็กในกลุ่มดังกล่าวจึงต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องช่องว่างในการสื่อสารระหว่างเด็กที่ยังใช้ภาษาไทยกลางไม่ได้ กับครูหรือพี่เลี้ยงซึ่งใช้ภาษาไทยกลาง (ศิริมาศ แก้วเจริญวงศ์, 2541)
        ปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งของการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กที่พูดภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่ง และพูดภาษาไทยกลางเป็นภาษาที่สอง คือ การที่ผู้สอนให้ความสำคัญเฉพาะภาษาไทยกลางเพียงภาษาเดียว ทำให้ภาษาถิ่นของเด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบควบคู่กันไป ภาวะเช่นนี้ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการได้เรียนรู้สองภาษาไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังเป็นการทำให้เด็กเกิดความสับสนต่อคุณค่าของภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย
        ในการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กสองภาษา ครูควรทำความเข้าใจว่าการเรียนรู้ภาษาที่หนึ่งและการเรียนรู้ภาษาที่สองมีความแตกต่างกัน การทำความเข้าใจดังกล่าวนำไปสู่การจัดประสบการณ์ทางภาษาอย่างเหมาะสมสำหรับเด็ก ทั้งนี้ ครูที่จัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่พูดภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่ง และพูดภาษาไทยกลางเป็นภาษาที่สอง ควรเป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้ภาษาถิ่นและภาษาไทยกลางเป็นอย่างดี เป็นครูที่เข้าใจสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น และบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนในท้องถิ่น ตลอดจนมีมนุษยสัมพันธ์อันดีกับบุคคลในชุมชนซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรในการเรียนการสอนที่สำคัญ (อรวรรณ วงค์คำชู, 2542) โดยมีแนวทางในการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กดังต่อไปนี้

1. ครูควรให้ความสำคัญกับภาษาที่หนึ่งของเด็กโดยยอมรับการใช้ภาษาของเด็ก ไม่ตำหนิ หรือบังคับให้เด็กใช้ภาษาที่ไม่ถนัด เนื่องจากพัฒนาการทางภาษาที่หนึ่งและภาษาที่สองมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหากได้รับการส่งเสริมและให้คุณค่ากับทั้งสองภาษาอย่างเท่าเทียมกัน

2. การใช้ภาษาในการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็กกับครูในระยะแรก ควรใช้ภาษาถิ่นซึ่งเป็นภาษาที่เด็กคุ้นเคยเป็นหลัก และใช้ภาษาไทยกลางในระยะต่อมา โดยให้เด็กมีโอกาสเลือกใช้ภาษาตามความต้องการ โดยครูควรตระหนักว่าแม้จะมีการสอนทั้งสองภาษาโดยให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกันก็จริง แต่เด็กอาจยังไม่สามารถออกเสียงภาษาไทยกลางได้ทุกเสียงอย่างชัดเจนตามหลักการออกเสียงภาษาไทยกลาง

3. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาที่มีความหลากหลายเอื้อต่อความต้องการของเด็ก ให้เด็กเรียนรู้การใช้ภาษาถิ่น และภาษาไทยกลางจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาด้วยตนเองตามสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และสถานการณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ครูและเด็กเรียนรู้และพัฒนาการใช้ภาษาของตนเองอย่างเป็นธรรมชาติ ตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาของเด็ก ได้แก่ การร้องเพลง ท่องกลอน หรือคำคล้องจองด้วยภาษาไทยถิ่น และภาษาไทยกลาง การเล่านิทานปากเปล่า หรือเล่านิทานประกอบอุปกรณ์ด้วยภาษาไทยถิ่น และภาษาไทยกลาง การถามตอบ หรือพูดคุยกับเด็กด้วยภาษาไทยถิ่น และภาษาไทยกลาง การให้เด็กได้สนทนากับเจ้าของภาษาทั้งผู้ที่พูดภาษาไทยถิ่น และภาษาไทยกลาง ฯลฯ

4. ประสานความเข้าใจกับผู้ปกครองและชุมชน ใช้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาทั้งภาษาไทยถิ่น และภาษาไทยกลางเป็นสื่อในการสอนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นการเรียนรู้ที่เป็นประสบการณ์ตรงในชีวิตจริง

ในกรณีที่ครูไม่สามารถพูดภาษาถิ่นที่เด็กพูดได้ มีแนวทางในการปฏิบัติตนของครู (Hendrick, 1996: 462-463) ดังนี้

1. ครูต้องพูดคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าบางครั้งเด็กจะไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่ครูพูด
2. รอคอย ให้กำลังใจ และกระตุ้นให้เด็กลองพูดภาษาที่สอง
3. จับคู่เด็กที่พูดภาษาถิ่นเหมือนกัน เพื่อให้เด็กรู้สึกสบายใจว่ามีคนที่เหมือนตนเอง
4. เมื่อพูดกับเด็กให้ใช้ระดับเสียงตามธรรมชาติ ไม่ควรเน้นเสียง หรือออกเสียงดังเกินไป เพราะจะทำให้เด็กกลัว หรือรู้สึกว่าครูกำลังโกรธ
5. หากเด็กใช้ชื่อที่เป็นภาษาถิ่น ให้ครูหัดออกเสียงเรียกชื่อของเด็กโดยใช้ภาษาถิ่นนั้น แทนการเรียกชื่อใหม่ที่เป็นภาษาที่สองที่ครูถนัด
6. ครูอาจพยายามใช้คำบางคำที่เป็นภาษาที่เด็กใช้เพื่อสื่อสารกับเด็ก
7. ใช้ภาษาท่าทาง ยิ้ม มองเด็กด้วยท่าทีที่ให้กำลังใจ เพื่อช่วยให้เด็กรับรู้ถึงความเป็นมิตรของครู
8. เมื่อพูดแล้วเด็กไม่เข้าใจ ครูอาจหยิบวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้เด็กดูเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น
9. เชื่อมโยงภาษากับวัตถุ หรือประสบการณ์จริง
10. การสอนให้เด็กรู้จักคำศัพท์ใหม่ควรเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และใช้ซ้ำๆ จนเด็กเกิดความเคยชิน ไม่ควรรีบร้อนสอนคำมากเกินไปในทันที
11. ใช้เพลงหรือคำคล้องจองง่ายๆ ที่เด็กสามารถท่องคลอไปพร้อมกลุ่มเพื่อน เพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจในการใช้ภาษา
12. ไม่ควรให้ความสนใจต่อการใช้ภาษาของเด็กมากเกินไป เพราะทำให้เด็กรู้สึกกดดัน
13. หากมีเด็กที่ใช้ภาษาถิ่นจำนวนน้อย ควรทำความเข้าใจกับเด็กอื่นๆ เพื่อให้เด็กไม่ถูกล้อเลียน
14. ครูต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของตนเองที่ไม่สามารถพูดภาษาถิ่นได้ จึงควรพูดคุยกับพ่อแม่ของเด็กให้ใช้ทั้งภาษาถิ่น และภาษาที่สองควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสที่จะเรียนรู้สองภาษา

        การเด็กจะอยู่ในบริบทของสังคมสองภาษา กล่าวคือ เด็กใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่ง และใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษามาตรฐานการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้น แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย แต่หากครูทำความเข้าใจความแตกต่างของภาษาที่หนึ่ง และภาษาที่สอง รวมทั้งศึกษาวิธีการช่วยเหลือเด็กอย่างเหมาะสม เด็กย่อมจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้สองภาษาไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังเป็นการทำให้เด็กคุณค่าของภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย


*** บทความนี้สามารถดาวน์โหลดไฟล์รูปแบบ pdf ได้ ***


 


ความคิดเห็นผู้ใช้

เสนอแนะโดย aree เปิด 2011-01-07 20:41:07
การส่งเสริมนิสัยรักการอ่านด้วยหนังสือภาพประกอบคำคล้องจองจะสร้างแบบประเมินอย่างไรขอตัวอย่างด้วยค่ะ

เสนอแนะโดย sirilak เปิด 2012-08-31 21:10:30
ขอบคุณค่ะได้ความรู้มากเลยค่ะ

Please login or register to add comments