Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow ห้องเรียนที่ส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย
ห้องเรียนที่ส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

        ภาษา คือ ระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการคิด และการ ติดต่อสื่อสาร ประกอบด้วยสัญลักษณ์ที่อยู่รวมกันอย่างมีแบบแผน หรือกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับในบริบทสังคม และวัฒนธรรมที่มนุษย์อาศัยอยู่ (วรนาท รักสกุลไทย และ นฤมล เนียมหอม, 2549) ภาษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญของการคิดซึ่งจะนำไปสู่พัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาในขั้นสูง ภาษาเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสาร เด็กใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการแสดงความต้องการ ควบคุมพฤติกรรมของผู้อื่น มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แสดงความเป็นตัวตนของเด็ก ค้นหาข้อมูล คิดจินตนาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หากไม่มีภาษา การติดต่อสื่อสารย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบาก ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเรียนรู้ เด็กใช้ภาษาในการทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อมอย่างมีความหมาย ผู้คนเรียนรู้ซึ่งกันและกันโดยมีภาษาเป็นสื่อกลาง ภาษาช่วยให้มนุษย์สามารถถ่ายทอดความคิดที่เป็นนามธรรมได้ ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งการทำความเข้าใจตนเอง และผู้อื่น ทั้งนี้ ภาษาเป็นระบบที่มีความซับซ้อน ครูจึงควรทำความเข้าใจความหมายของภาษาให้กระจ่างชัดเพื่อปรับมุมมองของตนที่มีต่อภาษาให้ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมศักยภาพทางภาษาให้แก่เด็กปฐมวัยได้ต่อไป

        การเรียนรู้ภาษาเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับการรู้หนังสือ (Literacy) ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการจัดการกับงานที่มีความซับซ้อนเพื่อใช้การอ่านและการเขียนอย่างสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิต และการรู้หนังสือของเด็กปฐมวัยเป็นการรู้หนังสือที่อยู่ในระยะแรกเริ่ม (Emergent literacy) เป็นการเรียนรู้ของเด็กก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การมีทักษะการรู้หนังสืออย่างเป็นทางการ (Tompkins, 1997)
        ห้องเรียนที่ส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยควรเป็นห้องเรียนที่มีวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการรู้หนังสือที่มีคุณภาพ สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ภาษา กิจวัตรประจำวันส่งเสริมการใช้ภาษา จัดหลักสูตรแบบบูรณาการโดยตระหนักถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ใช้การประเมินเพื่อชี้นำการสอน ใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย และจัดกลุ่มเด็กด้วยรูปแบบหลากหลาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. วัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการรู้หนังสือที่มีคุณภาพ

        เด็กที่ได้อยู่ในห้องเรียนที่มีวรรณกรรมสำหรับเด็กที่มีคุณภาพมีแนวโน้มที่จะรักการอ่าน และการอ่านวรรณกรรมที่ดีจะกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตในอนาคตของเด็ก อีกทั้งยังเป็นส่วนที่กระตุ้นให้เด็กมีความต้องการอ่านบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้วัสดุอุปกรณ์ที่ควรมีในห้องเรียนประกอบด้วย

        1.1 วรรณกรรมสำหรับเด็ก ครูควรเลือกวรรณกรรมสำหรับเด็กที่มีความหลากหลากในด้านของผู้แต่ง และผู้วาดภาพประกอบ เลือกหนังสือจากหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของเด็ก และมีระดับความยากแตกต่างกัน หนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กปฐมวัย คือ หนังสือภาพ โดยครูอาจศึกษาชื่อของหนังสือเหล่านี้ได้จากข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญรวบรวมไว้เพื่อแนะนำหนังสือดีสำหรับเด็ก
        ในห้องเรียนควรมีวรรณกรรมสำหรับเด็กหลายประเภท ทั้งเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมา เช่น หนูน้อยหมวกแดง หนูน้อยผมทอง นิทานชาดกซึ่งสอนคุณธรรมให้แก่เด็กโดยมักจะมีสัตว์เป็นตัวเดินเรื่อง นิทานที่ตัวละครสำคัญของเรื่องที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในด้านความดีและความไม่ดี เรื่องที่อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยมีตัวเอกเป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรี เทพนิยาย ตำนาน เรื่องที่แต่งขึ้นใกล้เคียงกับการใช้ชีวิตจริงของเด็ก เรื่องราวในประวัติศาสตร์ ประวัติชีวิตบุคคล หนังสือที่แสดงวิธีการทำหรือประดิษฐ์สิ่งต่างๆ หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย หนังสือพยัญชนะ รวมถึงหนังสือกลอน หรือคำคล้องจอง
        หนังสือภาพที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในห้องเรียนที่ต้องการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาของเด็ก คือ หนังสือภาพที่ไม่มีข้อความหรือตัวหนังสือ (Wordless Picture Book) ซึ่งจะนำเสนอเรื่องราวที่มีความเคลื่อนไหวผ่านทางภาพ ที่มีความหมายชัดเจน โดยไม่มีคำบรรยาย เป็นหนังสือที่ช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้แก่เด็ก และจูงใจให้เด็กเล่าเรื่องราว หนังสืออีกประเภทหนึ่งที่มีความ จำเป็นมากเช่นกัน คือ หนังสือที่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์หรือเนื้อหาได้ล่วงหน้า (Predictable Book) ซึ่งเป็นหนังสือที่เอื้อให้เด็กคาดคะเนเรื่องได้ โดยมีการใช้คำ รูปแบบประโยค หรือเหตุการณ์ที่ซ้ำๆ กัน คำและโครงสร้างของประโยคง่ายๆ มีตัวหนังสือตัวใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน หนังสือประเภทนี้นับเป็นหนังสือที่มีประโยชน์มากในการช่วยให้เด็กเรียนรู้ด้านภาษา

        1.2 วัสดุที่ใช้สำหรับการอ้างอิง ประกอบด้วยพจนานุกรม แผนที่ บัญชีคำศัพท์ และสารานุกรม ในปัจจุบันมีสิ่งตีพิมพ์จำนวนมากที่จัดอยู่ในประเภทนี้ โดยมีระดับความยากแตกต่างกันไป ในชั้นเรียนปฐมวัยครูควรเลือกใช้พจนานุกรมภาพที่ประกอบด้วยคำศัพท์ที่น่าสนใจสำหรับเด็ก หนังสือสารานุกรมที่มีภาพถ่าย หรือภาพวาดที่เด็กสนใจ รวมถึงควรจัดทำบัญชีคำศัพท์ไว้เพื่อให้เด็กใช้ในการอ้างอิงด้วย

        1.3 นิตยสารสำหรับเด็ก เป็นสิ่งตีพิมพ์ที่มีบทบาทสำคัญเช่นกันในห้องเรียนปฐมวัย เนื่องจากเป็นสิ่งที่ให้ข้อมูลต่างๆ แก่เด็กตามสภาพสังคมในปัจจุบัน เป็นสิ่งกระตุ้นให้เด็กสนใจทดลองความคิดใหม่ๆ และใส่ใจติดตามข่าวสารหรือข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ

        1.4 เครื่องเขียนที่หลากหลาย ครูควรจัดวางสื่อสำหรับการเขียนทั้งกระดาษที่ไม่มีเส้น และมีเส้นหลายสี หลายแบบ หลายขนาด กระดาษบันทึกเล็กๆ ซองจดหมาย ดินสอ ปากกา สีชนิดต่างๆ เครื่องเหลาดินสอ ตรายางและแท่นประทับ นอกจากนี้ยังอาจจัดสื่อสำหรับการเย็บกระดาษ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องเย็บกระดาษ ที่เจาะกระดาษ เชือก กาว เทปใส กระดาษกาว คลิปหนีบกระดาษ กรรไกร เป็นต้น โดยควรจัดวางให้เด็กสามารถเลือกหยิบใช้และนำมาเก็บคืนได้ด้วยตนเอง

2. จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ภาษา

        การประสบการณ์สำหรับเด็กด้านภาษาจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กได้คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอย่างมีความหมาย และเป็นองค์รวม เนื่องจากสภาพแวดล้อมในห้องเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญที่ส่งผลต่อความต้องการในการเรียนภาษาของเด็ก ในส่วนนี้ผู้เขียนจะนำเสนอสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนภาษาของเด็กปฐมวัย ดังนี้

        2.1 หลักการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนภาษาของเด็ก
หรรษา นิลวิเชียร ได้สรุป (2535: 211-212) หลักการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนภาษาของเด็กไว้จากงานวิจัย ดังนี้
   
            2.1.1 สิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กสำรวจ ปฏิบัติจริง เป็นผู้กระทำด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้เด็กเป็นอิสระได้สังเกตและตั้งสมมุติฐาน

            2.1.2 สิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับบุคคลรอบข้าง เด็กควรได้สื่อสารสองทางซึ่งเป็นหัวใจของการสื่อสาร

            2.1.3 สิ่งแวดล้อมที่เน้นความหมายมากกว่ารูปแบบ ควรยอมรับการสื่อสารของเด็กในรูปแบบต่างๆโดยคำนึงถึงความหมายที่เด็กต้องการสื่อมากกว่าความถูกต้องทางไวยากรณ์

            2.1.4 สิ่งแวดล้อมที่ประกอบด้วยความหลากหลายทั้งด้านวาจาและไม่ใช่วาจา เด็กควรได้รับทั้งการมีประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์หลายๆ รูปแบบ

        2.2 ลักษณะการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนปฐมวัยที่ส่งเสริมการเรียนภาษาของเด็ก