Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow ห้องเรียนที่ส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย
ห้องเรียนที่ส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

นักการศึกษาหลายท่านได้อธิบายลักษณะการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนปฐมวัยที่ส่งเสริมการเรียนภาษาของเด็กไว้ ดังนี้

บุษบง ตันติวงศ์ (2536: 144-145) กล่าวว่า สภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจะมีวัสดุอุปกรณ์ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้อ่านเขียนจากภาษาที่อยู่รอบตัวตลอดเวลา เช่น ในมุมบ้านจะมีชื่อเจ้าของบ้าน มีบ้านเลขที่และตู้จดหมายตรงทางเข้าบ้าน มีปฏิทิน สมุดโน้ตและดินสอวางไว้ใกล้ๆโทรศัพท์ เป็นต้น เด็กๆจะได้ทำกิจกรรมหลายอย่างในช่วงเวลาเดียวกัน เด็กได้ตัดสินใจเลือกกิจกรรมเหล่านั้นเอง ได้คิดเรื่องที่ตนสนใจและมีประสบการณ์ตรง ได้เขียนจากความเข้าใจและประสบการณ์ และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อน

อารี สัณหฉวี (2535: 24) กล่าวว่า เด็กควรจะมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวหนังสือ มีกิจกรรมปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู มีโอกาสเลือกและทำงานที่ชอบและสนใจ ห้องเรียนควรจัดให้มีมุมหรือศูนย์ต่างๆ เช่น มุมบ้าน มุมบล็อก มุมวิทยาศาสตร์ แต่มุมที่เป็นมุมหนังสือนั้นจะมีชั้นวางหนังสือเป็นมุมห้องสมุด มีวรรณกรรมเด็กมากขึ้น และอาจเพิ่มมุมเขียนด้วยก็ได้ มุมห้องสมุดจะถือเป็นจุดเด่นในห้องเรียนเด็กสามารถขอยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านได้ สำหรับหนังสือในมุมห้องสมุดนั้นครูจะต้องแสวงหาเพิ่มเติมและเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ส่วนมุมอื่นๆก็ต้องมีเครื่องเขียน ป้าย ประกาศต่างๆ และที่จัดแสดงผลงานเด็กไว้ด้วย เพื่อให้เด็กคุ้นกับตัวหนังสือ

มอโรว์ (Morrow 1989: 172-180) กล่าวว่า ครูสามารถจัดทุกมุมในห้องเรียนให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการเรียนภาษาได้โดยจัดให้มีวัสดุอุปกรณ์สำหรับอ่านและเขียนไว้ในแต่ละมุมโดยให้สอดคล้องกับหัวข้อในมุมนั้น และมุมที่เน้นมากที่สุด คือ มุมห้องสมุด การจัดมุมห้องสมุดจะต้องให้มีทั้งกิจกรรมการอ่านและการเขียน เขากล่าวว่ามุมห้องสมุดที่ดีควรมีหนังสือจำนวน 5-8 เล่มต่อเด็ก 1 คน มีหนังสือหลายประเภท และมีการเปลี่ยนแปลงหนังสือตามโอกาส มีวัสดุอุปกรณ์สำหรับอ่านและเขียนที่หลากหลาย โดยจะต้องจัดให้เป็นระบบ น่าสนใจ และดึงดูดใจให้เด็กให้เด็กเข้าไปอ่านและเขียน ที่สำคัญก็คือเด็กจะต้องได้เลือกทำกิจกรรมที่ตนต้องการที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง และทำกิจกรรมต่างๆด้วยความสนุกสนาน
สรุปได้ว่า สภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ภาษาจะจัดให้มีมุมเล่นหรือมุมประสบการณ์ต่างๆ โดยมีมุมที่เด่นชัด คือ มุมห้องสมุด มุมอ่าน มุมเขียน ส่วนมุมอื่นๆที่อาจจัดไว้ ได้แก่ มุมวิทยาศาสตร์ มุมบล็อก มุมบ้านหรือมุมบทบาทสมมุติ ฯลฯ โดยที่มุมทุกมุมที่จัดไว้สามารถจัดให้เอื้อต่อการเรียนภาษาได้โดยจัดให้มีหนังสือ ป้าย สัญลักษณ์ เครื่องหมาย หรือกิจกรรมต่างๆ ที่มีความหมายในการสื่อสารกับเด็ก มีวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถกระตุ้นให้เด็กต้องการใช้ภาษา และมีการปรับเปลี่ยนไปตามความสนใจของเด็ก


3. กิจวัตรประจำวันส่งเสริมการใช้ภาษา

        กิจวัตรประจำวันในห้องเรียนปฐมวัยควรเอื้อให้เด็กได้ใช้ภาษาตลอดทั้งตั้งแต่มาถึงโรงเรียนจนกระทั่งกลับบ้าน ในที่นี้ขอนำเสนอประสบการณ์ของผู้เขียนในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยด้านภาษา ตามลำดับในกิจวัตรประจำวัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้


ช่วงเวลา

กิจกรรมการเรียนรู้ภาษาของเด็ก

มาถึงโรงเรียน

·       สนทนากับครู และเพื่อน

·       ลงชื่อมาโรงเรียน หรือเลือกป้ายชื่อใส่ในแผ่นป้ายสำรวจการมาโรงเรียน

·       เลือกหนังสือมาอ่านอย่างอิสระตามความสนใจ

·       เล่นเกมภาษาที่ครูจัดเตรียมไว้ หรือเกมภาษาที่เด็กมีส่วนร่วมในการจัดทำ

·       การฟังครูอ่านออกเสียง

กิจกรรมทักทาย

·       ทำปฏิทินร่วมกัน

·       สังเกตและทำบันทึกเกี่ยวกับอากาศประจำวัน

·       ร่วมสนทนาข่าวและเหตุการณ์

·       เด็กนำสิ่งของมาแสดงและเล่าเรื่อง

กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ

·       ฟัง/ร้องเพลง ฟัง/ท่องกลอน คำคล้องจอง และทำท่าทางประกอบ

·       ฟังคำบรรยาย คำสั่ง ฯลฯ แล้วตีความเพื่อตอบสนองอย่างเหมาะสม

กิจกรรมกลุ่มใหญ่

·       อภิปรายร่วมกับเพื่อนและครู

·       กิจกรรมการอ่านร่วมกัน

·       กิจกรรมการเขียนร่วมกัน

กิจกรรมการอ่านตามลำพัง

·       ทุกคนในห้องเรียนเลือกหนังสือตามความสนใจมาอ่านเงียบๆ คนเดียว

กิจกรรมศิลปะและกิจกรรมมุมประสบการณ์

 

·       กิจกรรมการอ่านอิสระในมุมประสบการณ์

·       กิจกรรมการเขียนอิสระในมุมประสบการณ์

·       การเล่นเกมภาษา

·       การเล่าเรื่องซ้ำ

·       การฟังครูอ่านออกเสียง

กิจกรรมกลางแจ้ง

·       การอ่านป้ายต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมตามโอกาส

กิจกรรมอาหารกลางวัน

·       การบันทึกรายการอาหารที่เด็กรับประทาน

·       การท่องกลอน หรือคำคล้องจอง

·       การสนทนากับเพื่อนอย่างอิสระ

กิจกรรมนอนพักผ่อน

·       การได้ฟังเพลงที่ผ่อนคลายอย่างมีความสุข

ก่อนกลับบ้าน

·       เลือกหนังสือ และยืมหนังสือกลับบ้าน


        จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่าการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยมีลักษณะบูรณาการทักษะทางภาษา โดยคำนึงองค์ประกอบสำคัญของภาษา คือ การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร เด็กจะมีโอกาสใช้ภาษาในกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

4. การจัดหลักสูตรแบบบูรณาการโดยตระหนักถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม

        ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่เด็กเพิ่งจากบ้านมาโรงเรียน เด็กแต่ละคนล้วนมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน ตามวัฒนธรรมทางบ้านที่แตกต่างกัน การจัดหลักสูตรต้องคำนึงถึงความแตกต่างในข้อนี้ แม็กกี และริชเกลส์ (McGee and Richgels 2000: 157) กล่าวว่า เนื้อหาสาระ แนวคิดสำคัญที่นำมาใช้ในการจัดประสบการณ์ หรือความคาดหวังที่มีต่อการใช้ภาษาของเด็ก ควรมีความหลากหลาย และเอื้อต่อเด็กที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมในห้องเรียนนั้นๆ
จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนทำงานกับเด็กปฐมวัยจากชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน พบว่า การใช้คำพูดกับเด็กในช่วงต้นของการเข้าเรียน ครูจำเป็นต้องศึกษาคำศัพท์ที่เด็กใช้ที่บ้าน เช่น หากครูพูดถึง "คุณตา คุณยาย" เด็กจะไม่รู้จัก หากใช้คำว่า "อากง อาม่า" เด็กจะเข้าใจได้ เป็นต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ควรตระหนัก คือ เด็กจะเรียนรู้ภาษาได้ดีถ้าเริ่มต้นจากภาษาแม่ของเด็ก หรือภาษาที่เด็กใช้ที่บ้าน
นอกจากการใช้ภาษากับเด็กแล้ว ครูควรกำหนดหัวเรื่อง หรือหน่วยที่นำมาจัดประสบการณ์ให้สัมพันธ์กับวัฒนธรรมทางบ้านของเด็ก เพื่อเป็นสื่อในการเรียนรู้ที่เด็กมีประสบการณ์พื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ต่อไป

5. ใช้การประเมินเพื่อชี้นำการสอน

        การประเมินถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนการสอน การประเมินช่วยให้ครูทราบพัฒนาการของเด็ก เข้าใจเด็ก และรู้ว่าจะพัฒนาเด็กอย่างไร แม็กกี และริชเกลส์ (McGee and Richgels 2000: 160) กล่าวว่า การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยด้านภาษาที่มีคุณภาพ ต้อง
เริ่มต้นจากการวางแผนที่ดี ซึ่งการวางแผนจะทำได้ดียิ่งขึ้นหากมีการประเมินระดับพัฒนาการของเด็กก่อนที่จะนำมาวางแผนการจัดประสบการณ์ การที่ครูเฝ้าดูเด็ก (Kid Watching) และสังเกตการใช้ภาษาของเด็กช่วยให้ครูทราบว่าเด็กแต่ละคนมีจุดเด่น ความต้องการ ความสนใจ และต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใดทำให้ครูสามารถส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของเด็กได้อย่างเต็มที่
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การประเมินที่ดีต้องผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันกับการสอน ขณะที่ครูสอนครูจะทำการประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กไปด้วย และนำผลการประเมินนั้นๆ มาใช้ในการวางแผนการจัดประสบการณ์ต่อไป