Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow ห้องเรียนที่ส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย
ห้องเรียนที่ส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

6. ใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย

        ครูควรใช้วิธีการสอนสอนที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความแตกต่างกันของเด็ก แม็กกี และริชเกลส์ (McGee and Richgels 2000: 160) กล่าวว่าวิธีการสำคัญและเป็นวิธีการหลักที่ครูจำเป็นต้องใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาของเด็กปฐมวัย คือ การสนทนา เพราะในขณะที่เด็กสนทนากับครู เด็กจะได้ยินแบบอย่างของการใช้ภาษาที่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อเด็กสนทนากันเอง เด็กจะมีโอกาสฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ได้ทำความเข้าใจการพูดของเพื่อนจากสิ่งชี้แนะ
นอกจากการใช้การสนทนาในห้องเรียนปฐมวัยแล้ว ผู้เขียนได้รวบรวมตัวอย่างวิธีการสอนจากงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์ทางภาษาให้แก่เด็กปฐมวัย แยกตามทักษะทางภาษา ดังนี้

        6.1 การฟังและการพูด
        อลิสา เพ็ชรรัตน์ (2539) ได้ทำการวิจัยเรื่องการพัฒนาความสามารถในการจับใจความของเด็กวัยอนุบาลโดยใช้เทคนิคการเล่านิทานแบบเล่าเรื่องซ้ำ โดยกล่าวถึงความหมายของการจับใจความว่าหมายถึงความสามารถในการระลึกได้โดยการเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ แล้วเรียบเรียงข้อมูลโดยการคาดคะเน ตีความ แปลความ และตรวจสอบความเข้าใจ เด็กปฐมวัยเรียนรู้การจับใจความด้วยการฟังนิทาน เพราะนิทานมีโครงสร้าง ลีลาในการเขียน และเรื่องราวที่เด็กคุ้นเคย เอื้อให้เด็กสามารถใช้ความรู้เดิมในการจับใจความจากเรื่องที่ฟังและดูภาพประกอบ
การสอนให้เด็กจับใจความได้ดีนั้น เมื่อครูต้องเล่านิทานแล้ว ครูต้องถามคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดจับใจความสำคัญ ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นแบบอย่างของการคาดคะเน แปลความ ตีความ และตรวจสอบความเข้าใจ แล้วเก็บประเด็นสำคัญในการจับใจความ จากนั้นครูต้องเปิดโอกาสให้เด็กเล่าเรื่องซ้ำให้ผู้อื่นฟัง โดยการเล่าเรื่องซ้ำเป็นกิจกรรมระหว่างครูกับเด็ก และควรจัดเป็นกิจกรรมระหว่างเด็กกับเด็กด้วยกันด้วย เพื่อให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการเรียนและฝึกปฏิบัติในสิ่งที่เรียนรู้ไปแล้ว

เทคนิคในการสอนเล่านิทานแบบเล่าเรื่องซ้ำ ได้แก่

(1) ก่อนเล่านิทานครูถามคำถามให้เด็กคาดคะเน และเชื่อมโยงประสบการณ์เดิม
(2) ขณะเล่านิทาน ครูถามคำถามให้เด็กตีความ ให้คาดคะเน ให้แปลความ และตรวจสอบความเข้าใจ
(3) หลังเล่านิทานจบครูให้เด็กทบทวนเรื่องราวที่ได้ฟัง
(4) ครูเสริมแรงขณะเด็กเล่าเรื่องซ้ำให้ผู้อื่นฟัง

        นอกจากนี้ อลิสา เพ็ชรรัตน์ ยังได้นำเสนอกิจกรรมสำหรับทบทวนหลังการเล่านิทานจบไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย การทำแผนผังนิทาน หนังสือนิทาน บอร์ดนิทาน กล่องนิทาน ฉากนิทาน แผ่นพับนิทาน ภาพแขวนต่อเนื่อง การเชิดหุ่น ภาพตัดต่อนิทาน บทบาทสมมติ และกะบะนิทาน

        6.2 การอ่าน
สุภัทรา คงเรือง (2539) ได้ทำการวิจัยเรื่อง ผลของการใช้กิจกรรมการอ่าน ตามแนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติที่มีต่อความคิดรวบยอดเกี่ยวกับตัวหนังสือและหนังสือของเด็กวัยอนุบาล โดยได้นำเสนอกิจกรรมการอ่าน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
 
            6.2.1 กิจกรรมการอ่านร่วมกัน เป็นกิจกรรมการอ่านคำคล้องจอง เพลง และหนังสือที่ครูกับเด็กอ่านร่วมกัน โดยใช้เทคนิคการชี้คำขณะที่อ่าน การเน้นคำสำคัญ การฝึกให้คาดคะเนเนื้อเรื่องล่วงหน้าจากประสบการณ์ การเติมคำในช่องว่าง การปิดคำ และเลื่อนให้เห็นตัวอักษร และการเล่าเรื่องซ้ำ โดยสื่อหลักที่ใช้ได้แก่หนังสือเล่มใหญ่

            6.2.2 กิจกรรมการอ่านข้อความในสิ่งแวดล้อมตามโอกาส เป็นกิจกรรมที่นำเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันมาสนทนากัน จัดทำไว้ใช้อ่านในห้องเรียน โดยสื่อที่ใช้ได้แก่ ป้ายข้อตกลงต่างๆ ในห้องเรียน ป้ายประกาศเตือนความจำ คำแนะนำในการใช้และเก็บของเล่น คำขวัญ คำคล้องจองประจำมุม ป้ายสำรวจชื่อเด็กที่มาโรงเรียน ป้ายแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ป้ายอวยพรวันเกิด รายการอาหารและของว่างประจำวัน ปฏิทิน รายงานอากาศประจำวัน และป้ายอวยพรวันเกิดเพื่อน

            6.2.3 กิจกรรมการสื่อภาษา เป็นกิจกรรมที่เด็กได้สื่อความหมายสิ่งที่ได้อ่านหลังทำกิจกรรมการอ่านร่วมกัน ได้แก่ กิจกรรมการทำหนังสือนิทาน กิจกรรมการแสดงละคร กิจกรรมการเล่าเรื่องซ้ำ กิจกรรมทำงานศิลปะ และกิจกรรมทำภาพผนัง โดยใช้หนังสือเล่มใหญ่เป็นสื่อ

            6.2.4 กิจกรรมการอ่านอิสระเป็นกิจกรรมการอ่านหนังสือตามความสนใจ เมื่อเด็กอ่านหนังสือเสร็จ เด็กสามารถจดชื่อหนังสือที่ตนอ่านลงในสมุดบันทึก ครูจะช่วยบันทึกสิ่งที่เด็กอ่าน และให้เด็กเล่าหรือพูดคุยเรื่องที่อ่านให้เพื่อนฟัง สื่อที่ใช้ได้แก่หนังสือประเภทต่างๆ รวมทั้งคำคล้องจองและเนื้อเพลง

            6.2.5 กิจกรรมการเล่นเกมภาษา เป็นกิจกรรมการเล่น ได้แก่ เกมหาคำที่เหมือนกันในนิทานหน้าอื่นๆ เกมหาชื่อตัวละคร เกมพูดตามเครื่องหมายวรรคตอน เกมคำ-ภาพสร้างรูป เกมลำดับภาพและข้อความจากเรื่อง และเกมอ่านหนังสือนิทานเล่มใหญ่

6.3 การเขียน

        ภาวิณี แสนทวีสุข (2538) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การพัฒนาชุดการจัดประสบการณ์การเขียนร่วมกันตามแนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติสำหรับเด็กอนุบาล โดยนำเสนอกิจกรรมการเขียนไว้ ดังนี้

        6.3.1 กิจกรรมการเขียนตามโอกาส เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการนำเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันมาสื่อความหมายด้วยภาษาเขียน ประกอบด้วยกิจกรรมสำรวจเด็กมาโรงเรียนซึ่งให้เด็กได้ลงชื่อมาโรงเรียน กิจกรรมแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ กิจกรรมประกาศข่าว กิจกรรมเขียนบัตรขอบคุณ และกิจกรรมอวยพรวันเกิด

        6.3.2 กิจกรรมการเขียนเสรี เป็นกิจกรรมที่ที่เด็กริเริ่มเนื้อหาที่ต้องการสื่อความหมายอย่างอิสระในช่วงเวลาของกิจกรรมสร้างสรรค์และเล่นตามมุม เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเขียนเพื่อสื่อความหมายตามความสนใจและความสมัครใจ เด็กเป็นผู้เลือกเนื้อหาในการทำกิจกรรม เช่น การเขียนถ่ายทอดความคิดที่ผลงานศิลปะและผลงานการต่อบล็อก การบันทึกชื่อนิทานที่อ่าน การเขียนเพื่อทำอุปกรณ์ประกอบการเล่นสมมุติ เช่น ใบสั่งยา เมนู ฯลฯ การบันทึกการสังเกตในมุมวิทยาศาสตร์

        6.3.3 กิจกรรมเขียนเสรีที่สัมพันธ์กับหน่วยการเรียน เป็นกิจกรรมที่ใช้เนื้อหาจากหน่วยการสอนมาบูรณาการกับการเขียนเสรี โดยเด็กจะได้รับประสบการณ์จากกิจกรรมตามหน่วยการเรียน และครูเตรียมกิจกรรมตามมุมไว้ให้สัมพันธ์กับหน่วย แล้วให้เด็กได้เลือกทำกิจกรรม เช่น การพิมพ์ภาพมือและเท้าในหน่วยตัวเรา การทำเมนูอาหารในหน่วยอาหารดีมีประโยชน์ เป็นต้น  

7. จัดกลุ่มเด็กด้วยรูปแบบหลากหลาย

        ในห้องเรียนที่จัดประสบการณ์ทางภาษาจะให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การจัดกลุ่มเด็กจะมีทั้งกลุ่มใหญ่ทั้งห้องเรียน กลุ่มเล็ก การทำงานเป็นคู่ หรือการทำงานแบบร่วมมือ และการทำงานตามลำพังคนเดียว การจัดให้เด็กเรียนรู้ทางภาษาต้องให้เด็กมีโอกาสร่วมกิจกรรมตามรูปแบบของการจัดกลุ่มเด็กทั้ง 4 แบบ เพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์ในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ได้ฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจการใช้ภาษาของผู้อื่น ได้ทำงานโดยวางแผนร่วมกับผู้อื่น และมีเวลาได้สำรวจความสนใจและความตั้งใจของตนเองตามลำพัง

        การดำเนินการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยตามคุณสมบัติของห้องเรียนที่ส่งเสริมการรู้หนังสือ 7 ข้อดังกล่าวข้างต้นเป็นการดำเนินการจัดประสบการณ์ด้านภาษาที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก เป็นการดำเนินการที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ภาษาด้วยความสนใจ และเป็นผู้ที่รู้จักคิดไตร่ตรองโดยใช้ภาษาในการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและโลกรอบตัว ซึ่งสรุปเป็นแผนภาพ ดังนี้

images/stories/1002.gif
แผนภาพแสดงคุณสมบัติของห้องเรียนที่ส่งเสริมการรู้หนังสือ
(McGee and Richgels 2000: 143-166)
 


*** บทความนี้สามารถดาวน์โหลดไฟล์รูปแบบ pdf ได้ ***

 



ความคิดเห็นผู้ใช้

Please login or register to add comments