Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

เรียบเรียงโดย รศ.ดร.จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ / อาจารย์นฤมล เนียมหอม


        ในยุคปัจจุบันความรู้เรื่องสมองที่จะนำไปสู่การปฏิบัติทางการศึกษาได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากทั้งวงการแพทย์และวงการศึกษา ทำให้ได้รับการสนับสนุนปัจจัยต่างๆ จากรัฐบาลที่จะให้นำข้อความรู้สำคัญๆ ทางสมองไปพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กไทย
        คำที่ทำให้เกิดการตื่นตัวทางการศึกษาและทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในวงกว้าง คือ ทฤษฎีการเรียนรู้แบบใช้สมองเป็นพื้นฐาน (Brain-Based Learning) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่สมองถูกออกแบบมา เพื่อใช้ในการเรียนรู้ตามธรรมชาติ เป็นทฤษฎีที่คิดค้นมาจากหลักการหลายๆ หลักการ และความรู้จากหลายๆ แขนง เพื่อที่จะหาแนวทางที่สามารถตอบคำถามพื้นฐานที่ว่า อะไรเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อสมองในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ (นัยพินิจ คชภักดี, 2548)
        สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (ม.ป.ป.) ได้ให้ความหมายของ Brain-Based Learning (BBL) ว่า การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด พัฒนาการ และการเรียนรู้ของสมอง คือ การนำองค์ความรู้เรื่องสมองและธรรมชาติการเรียนรู้ของสมองมาใช้ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ทั้งในด้านการจัดกิจกรรม การเสริมสร้างประสบการณ์ ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมและกระบวนการอื่นๆ ร่วมกับสื่อเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ ทำให้เด็กสนใจ เข้าใจ เรียนรู้ และรับไว้ในความทรงจำระยะยาว ทั้งยังสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม เป็นการสร้างศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของมนุษย์

หลักการเรียนรู้ของสมองและจิต

Caine and Caine (2002) ได้สรุปหลักการเรียนรู้ของสมองและจิตไว้ 12 ประการ ดังนี้
1. The brain is a living system: body, mind and brain are one dynamic unity.
        สมองสามารถทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน (A parallel processor) และการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับสรีระทั้งหมดของร่างกาย สมองทำงานเป็นระบบซึ่งเป็นองค์รวม (A whole system) จะไม่แยกเรียนรู้เฉพาะทีละส่วน การจัดการศึกษาจึงต้องไม่จัดโดยแยกเป็นส่วนๆให้สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์

2. The brain/mind is social.
        ในช่วงแรกของชีวิตสมองเติบโตอย่างรวดเร็วมาก การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของสมองเกิดจากการที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม มนุษย์แต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ดังนั้น ความสัมพันธ์ทางสังคมจึงมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้

3. The search for meaning is innate.
        มนุษย์มีความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติในการค้นหาความหมายของสิ่งต่างๆ ดังนั้น จึงต้องตอบสนองต่อความต้องการค้นหาความหมายด้วยการได้สำรวจและเรียนรู้สิ่งต่างๆ

4. The search for meaning occurs through patterning.
        สมองจะทั้งรับรู้และทำความเข้าใจรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่สมองจะสร้างและแสดงออกด้วยรูปแบบของตัวเอง ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้กำหนดรูปแบบในการเรียนรู้และทำความเข้าใจของตนเอง

5. Emotions are critical to patterning.
        อารมณ์มีผลต่อรูปแบบการเรียนรู้ อารมณ์และการเรียนรู้เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น บรรยากาศที่เหมาะสมจึงเอื้อให้เกิดการเรียนรู้

6. The mind/brain processes parts and wholes simultaneously.
        แม้ว่าสมองจะมี 2 ส่วน คือ ด้านซ้ายและขวา แต่สมองทั้งสองซีกจะทำงานอย่างสัมพันธ์กันในทุกๆ กิจกรรม ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่าสมองจะทำการแบ่งข้อมูลออกเป็นส่วนๆ และทำความเข้าใจโดยภาพรวม ดังนั้น การจัดการศึกษาที่ดีต้องตระหนักถึงข้อนี้ โดยการให้เรียนรู้เป็นภาพรวมและส่วนย่อย

7. Learning involves both focused attention and peripheral perception.
        การเรียนรู้ประกอบด้วยจุดสนใจหลักและรับรู้สิ่งต่างๆรอบตัวไปพร้อมๆกัน ดังนั้น ในการจัดการศึกษาจึงจำเป็นต้องใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ในทุกแง่มุม

8. Learning always involves conscious and unconscious processes.
        การเรียนรู้เป็นไปโดยที่เกิดความตระหนักในสิ่งที่กำลังเรียนรู้และไม่ได้ตระหนักว่าเกิดการเรียนรู้ การเรียนรู้อาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีแต่ต้องใช้เวลาที่ค่อยๆเกิดขึ้น ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องออกแบบให้เอื้อให้ผู้เรียนได้ค่อยๆต่อเติมแนวคิด ทักษะ และประสบการณ์ จนกระทั่งเกิดความเข้าใจและเรียนรู้

9. We have at least two ways of organizing memory: A spatial memory system and a set of systems for rote learning.
        มนุษย์มีวิธีจัดระบบความจำ 2 แบบที่สำคัญ คือ ระบบการจำเป็นมิติ และการท่องจำ การเรียนรู้ที่อย่างมีความหมายต่อผู้เรียนจะเกิดจากระบบความจำทั้งสองแบบนี้ ดังนั้น การเรียนรู้จะเกิดจากสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียน

10. Learning is developmental.
        ในช่วงต้นของชีวิต สมองจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมากซึ่งมีลักษณะของ Hard wiring มีการสร้างเส้นใยประสาท และจุดเชื่อมต่อมากมาย ซึ่งมีช่วงของการเรียนรู้ที่เหมาะสมในเรื่องต่างๆ (Windows of opportunity) แต่อย่างไรก็ตาม สมองก็ไม่ได้จำกัดหรือหยุดการเจริญเติบโต มนุษย์จึงสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ดังนั้น จึงควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับ Windows of opportunity และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

11. Complex learning is enhanced by challenge and inhibited by threat.
        ความท้าทายจะช่วยกระตุ้นให้ต้องการเรียนรู้ ส่วนความกลัวจะยับยั้งการเรียนรู้ ดังนั้น การเรียนรู้จะเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ปราศจากความกลัว และมีความท้าทายให้ต้องการเรียนรู้

12. Each brain/mind is uniquely organized.
        มนุษย์ทุกคนมีสมอง แต่สมองของแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น แต่ละคนจึงมีแบบแผนของการเรียนรู้ (Learning Style) ความสามารถ และเชาว์ปัญญาที่แตกต่างกัน