Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

        แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมทั้ง 3 แนวทางดังกล่าวข้างต้นเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ดังที่อรพรรณ บุตรกตัญญู (2542) ได้เรียบเรียงสาระสำคัญที่ทางสมาคมการศึกษาปฐมวัยแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้เสนอไว้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ดังนี้

การส่งเสริมบรรยากาศที่ดีสำหรับการเรียนรู้

1) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ และเด็กกับเด็ก และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
2) พัฒนาความมั่นใจและความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนรู้ของเด็กด้วยการจัดกิจกรรมที่มีความหมายต่อเด็ก ให้เด็กทำงานที่สามารถประสบความสำเร็จ และเพิ่มความท้าทายในความสามารถและพัฒนาการขั้นถัดไป

การส่งเสริมกลุ่มและการตอบสนองความต้องการรายบุคคล
1) ให้ความสำคัญต่อการรู้จักเด็กเป็นรายบุคคลและคิดกิจกรรมจากพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเด็กเป็นรายบุคคลที่แตกต่างกันด้วยความสามารถและความสนใจ
2) สร้างความรู้สึกของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มและการมีส่วนร่วมกับประสบการณ์ที่มีความหมายต่อเด็กเป็นรายบุคคล
3) นำวัฒนธรรมและภาษาที่บ้านของเด็กแต่ละคนเข้าไปสู่วัฒนธรรมที่ร่วมกันของโรงเรียน
4) จัดโอกาสในการทำงานและเล่นร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่จัดโดยครูหรือเด็กสร้างเอง และใช้เวลาของกิจกรรมกลุ่มใหญ่ในการสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
5) เด็กพิเศษมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมทางสังคมและทางสติปัญญาในชั้นเรียน พร้อมกับการอำนวยความสะดวกทางกายภาพที่เหมาะสม และมีการสร้างความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและการได้รับการยอมรับ

สิ่งแวดล้อมและตารางเวลา
1) วางแผนการจัดประสบการณ์ และจัดสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการริเริ่มในการเรียนรู้และสำรวจสิ่งต่างๆ ด้วยความสะดวกและเหมาะสมทั้งต่อเด็กและต่อผู้ใหญ่ในการทำกิจกรรมต่างๆ และเหมาะกับบริบททางสังคมวัฒนธรรม และสถานการณ์
2) ดูแลความปลอดภัยของเด็ก และแนะนำเด็กในการทำสิ่งต่างๆ โดยการให้เด็กรับประสบการณ์ที่มีความเสี่ยงเหมาะสมภายขอบเขตที่เด็กสามารถทำได้
3) จัดตารางประจำวันให้มีช่วงเวลาของการทำกิจกรรมและช่วงเวลาของการพักผ่อนที่สมดุล โดยมีความต่อเนื่องของช่วงเวลาต่างๆ ในการเปลี่ยนกิจกรรมที่เป็นไปอย่างราบรื่นและมีการยืดหยุ่นเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ

หลักการออกแบบกระบวนการและสื่อการเรียนรู้แบบ Brain-Based Learning

        สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (2549) ได้เสนอแนะหลักการออกแบบกระบวนการและสื่อการเรียนรู้แบบ Brain-Based Learning เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติไว้ ดังนี้

1. สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นความสนใจ กระตุ้นการเรียนรู้สี รูปทรง สถาปัตยกรรม สิ่งที่ผู้เรียนออกแบบกันเอง (ไม่ใช่ครูออกแบบให้) เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกมีส่วนร่วมและมีความเป็นเจ้าของ
2. สถานที่สำหรับการเรียนรู้เป็นกลุ่มร่วมกัน ที่ว่างๆ สำหรับรวมกลุ่มเล็ก ซุ้มไม้ โต๊ะที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เป็นกลุ่ม หรือปรับที่ว่างสำหรับกลุ่มให้เป็นห้องนั่งเล่นที่กระตุ้นการมีปฏิสัมพันธ์
3. เชื่อมโยงสถานที่เรียนในห้องกับนอกห้อง บริเวณภายในห้อง-การเคลื่อนไหว กระตุ้นให้สมองส่วนควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อกับสมองส่วนหน้า ให้สมองได้รับอากาศบริสุทธิ์
4. บริเวณเฉลียงทางเชื่อมระหว่างตึกและสถานที่สาธารณะ ทำให้การเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตของห้องเรียน โรงเรียน ทำให้เปิดสมองและการเรียนรู้ให้กว้างขวางเรียนที่ไหนก็ได้
5. ความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะในชุมชนเมือง
6. จัดหาสถานที่หลากหลายที่มีรูปทรง สี แสง ร่อง รู ซอก
7. เปลี่ยนแปลงการจัดแสดงบ่อยๆ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์
กับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายเปลี่ยนแปลงจะกระตุ้นการทำงานของสมองโดยจัดให้มีสถานที่ที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นเวที ที่จัดนิทรรศการ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่างๆ ได้ง่าย
8. จัดให้มีวัสดุต่างๆ ที่กระตุ้นการเรียนรู้ พัฒนาการต่างๆของร่างกายมากมายหลากหลาย พร้อมสำหรับนำมาจัดทำสื่อประกอบการเรียนรู้เมื่อเกิดมีความคิดใหม่ๆ โดยให้มีลักษณะบูรณาการ
ไม่แยกส่วนจุดมุ่งหมายหลักคือให้เป็นแหล่งที่ทำหน้าที่หลากหลาย ระดมความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ซึ่งกันและกันอย่างอุดม
9. ยืดหยุ่น ยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและกระตุ้นการเรียนรู้ เพื่อให้เหมาะสมกับสมองที่แตกต่างกันของแต่ละคน และภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป
10. สถานที่สงบและสถานที่สำหรับทำกิจกรรม ทุกคนต้องการสถานที่สำหรับสงบ อยู่กับตนเอง เพื่อพัฒนาจิตของตนเอง ขณะเดียวกันก็ต้องการสถานที่ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นซึ่งจะกระตุ้นพัฒนาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์
11. สถานที่ส่วนตัว อยู่บนฐานของแนวคิดที่ว่า สมองแต่ละคนมีความต้องการเฉพาะจึงต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของตน จัดสถานที่ส่วนตัวของตน และสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนได้อย่างอิสระ
12. ชุมชน คือ สถานที่สำหรับเรียนรู้ ต้องหาวิธีที่จะใช้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ให้มากที่สุด ทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่รุ่มรวยสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีการเรียนทางไกล ชุมชน ภาคธุรกิจ บ้าน ต้องนำเข้ามามีส่วนและเป็นทางเลือกในการเรียนรู้

        การที่สมองมีความสามารถเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาที่เข้าใจการทำงานของสมองจะสามารถกำหนดวิสัยทัศน์ในการบริหาร จัดให้ครูที่มีความรู้ ความเข้าใจพัฒนาการเด็ก เป็นผู้จัดการเรียนรู้ให้แก่เด็ก และสนับสนุนให้มีการจัดหลักสูตรที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาสมอง ได้แก่ การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ให้เด็กได้เรียนแบบองค์รวมในขณะเดียวกันก็ได้เรียนส่วนย่อยไปด้วย จัดโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นผู้คน สัตว์ หรือสิ่งของเพื่อให้สมองได้รับข้อมูลใหม่ๆ และเกิดการเชื่อมต่อเส้นประสาทในสมอง ทั้งนี้การเรียนรู้จะต้องมีความท้าทาย มีรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการตามธรรมชาติของเด็กโดยที่ประสบการณ์ต่างๆที่จัดให้กับเด็กนั้นจะต้องมีความหมายต่อเด็กเป็นรายบุคคล ที่สำคัญ คือ ต้องคำนึงถึง Windows of Opportunity เพื่อให้สามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กอย่างเต็มตามศักยภาพ

        ครูที่เข้าใจการทำงานของสมองจะสามารถช่วยให้เด็กพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ ทั้งในด้านวิธีการจัดการเรียนการสอน การจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ จัดกิจกรรมที่มีความหลากหลายทั้งในด้านของสื่อ กิจกรรม ความยากง่าย ฯลฯ เพื่อท้าทายให้เด็กเกิดความสนใจที่จะทดลอง ให้เด็กได้เลือก ได้ลองผิดลองถูก และอยู่ในบรรยากาศที่อบอุ่น ปลอดภัย ไม่สร้างบรรยากาศที่เครียด และทำให้เด็กกลัวเพราะจะไปบั่นทอนศักยภาพการทำงานของสมองของเด็ก


 *** บทความนี้สามารถดาวน์โหลดไฟล์รูปแบบ pdf ได้ *** 


 


ความคิดเห็นผู้ใช้

เสนอแนะโดย eman เปิด 2016-07-08 13:23:04
สวัสดีคะ  
ต้องการนำข้อความจากบทความเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ไปใช้อ้างอิงในการวิจัยได้ไหม๊คะ หากได้ ต้องการทราบชื่อวารสาร ปีพิมพ์ ปีที่ ฉบับที่ เลขหน้าของบทความนี้ด้วยคะ 
ขอบคุณคะ

เสนอแนะโดย surakij เปิด 2016-09-13 22:28:28
กำลังจะทำวิจัยการออกแบบสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ต้องการบทความไปอ้างอิงครับ

Please login or register to add comments