Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย
        ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากทั้งการวิจัยและการวิเคราะห์ของวงการวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมองและการเรียนรู้ของเด็ก มีประเด็นที่เด่นชัดว่าการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยทำให้ภาวะของสมองเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ ประเด็นสำคัญที่ได้ประมวลมาจากบทความต่างๆ ที่นัยพินิจ คชภักดี (2548) ได้นำเสนอ มีแนวคิดที่เป็นสาระหลักที่ควรนำมาพิจารณาในการจัดสภาพแวดล้อม ดังนี้

• สมองเป็นอวัยวะที่มีความจำเฉพาะตัว และเป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งแวดล้อมต่างๆ จนเกิดเป็นความแตกต่างและ
  หลากหลายของสมองที่สั่งสมมาตลอดชั่วชีวิต
• การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดเมื่อสมองเผชิญกับความเครียดและความรู้สึกผ่อนคลายในปริมาณที่สมดุลกัน คือ การตื่นตัวแบบ
  ผ่อนคลาย ถ้าครูจะนำไปปฏิบัติก็ต้องสร้างบรรยากาศของห้องเรียน ไม่ใช่ให้ปลอดภัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้เกิดประกาย
  ของความรู้สึกกระหายใคร่รู้
• การปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมองกับสิ่งแวดล้อมทำให้ต้องตระหนักว่ายิ่งมีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์เท่าใด ก็จะทำให้สมองเกิดการเรียนรู้
  มากขึ้นเท่านั้น
• สภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์จะส่งผลให้สมองมีการเชื่อมโยงของระบบประสาทเพิ่มขึ้นถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ทั้งในช่วงแรกและช่วงหลัง
  ของชีวิต ดังนั้นสภาพแวดล้อมของคนเราจึงต้องสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดความหลากหลาย
• การเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับการหายใจ เพียงแต่การเรียนรู้ถูกยับยั้ง หรือส่งเสริมด้วยปัจจัยบางอย่างได้
• การเชื่อมโยงของระบบประสาทขึ้นอยู่กับปัจจัยของสิ่งแวดล้อม นั่นคือ ลักษณะของโรงเรียน กับสิ่งที่พบในชีวิตประจำวันด้วย
• การควบคุมความเครียด โภชนาการ การออกกำลังกาย และการผ่อนคลาย รวมทั้งการบริหารสุขภาพในรูปแบบอื่นๆ จะต้องเป็น
  ส่วนสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาถึงความเหมาะกับการเรียนรู้ด้วย
• เด็กปกติที่มีอายุเท่ากัน อาจมีอายุทางพัฒนาการของทักษะพื้นฐานแตกต่างกันได้ถึงห้าปี
  ฯลฯ

ตัวอย่างการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย
        นวัตกรรมทางการจัดศึกษาปฐมวัยต่างให้ความสำคัญต่อการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งสิ้น ในที่นี้เป็นตัวอย่างแนวทางการจัดสภาพแวดล้อมของนวัตกรรมทางการศึกษา-ปฐมวัย 3 นวัตกรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมของการจัดการศึกษาวอลดอร์ฟ
        การจัดบรรยากาศภายในห้องเรียน อาคารเรียน และบริเวณโรงเรียนเป็นองค์ประกอบสำหรับการจัดการศึกษาวอลดอร์ฟ ความงดงามของธรรมชาติจะปรากฏอยู่ทั้งบริเวณกลางแจ้งและภายในอาคาร มีการนำภาพศิลปะ งานประติมากรรม กลิ่นหอมของธรรมชาติเข้ามาตกแต่ง ทำให้บรรยากาศของโรงเรียนสงบ และอ่อนโยน ภายใต้แนวคิดที่ว่า เด็กวัย 0 - 7 ปี เป็นวัยที่เรียนรู้จากการเลียนแบบ สิ่งที่เด็กเลียนแบบในช่วงนี้จะฝังลึกลงไปในเด็ก หล่อหลอมเด็กทั้งกายและจิตวิญญาณ และฝังแน่นไปจนโต ทั้งนี้ จากงานวิจัยของวีณา ก๊วยสมบูรณ์ (2542) ได้นำเสนอแนวทางการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพของการจัดการศึกษาวอลดอร์ฟ ไว้ดังนี้

บริเวณภายในห้อง
        บริเวณภายในห้องควรจะเป็นกันเอง และสว่างไสวเพียงพอ ไม่จ้าจนเกินไปเพราะจะทำให้เกิดความร้อน เด็กจะขาดสมาธิในการเรียน อาจใช้ผ้าม่านเพื่อช่วยกรองแสงให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ไม่ควรเป็นห้องที่มืดจนเกินไป หากห้องมีลักษณะมืด ควรเปิดไฟ หรือตั้งโคมไฟในบางจุดที่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการใช้แสงที่ไม่ใช่แสงธรรมชาติในเวลากลางวัน ใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้สีธรรมชาติ สีสันบนผนังห้องเรียนทาสีอ่อนเพื่อสร้างบรรยากาศที่น่าอยู่ ให้เด็กที่ได้มานั่งในห้องได้นึกถึงความสดชื่นยามอยู่ใต้ต้นไม้ ที่ออกดอกบานสะพรั่ง

บริเวณกลางแจ้ง
        บริเวณกลางแจ้งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นสนามเด็กเล่นอยู่ติดกับตัวอาคาร โดยจัดให้ใช้ได้ในสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย พื้นผิวควรแข็งเพื่อให้แห้งเร็วเมื่อฝนตก ควรตั้งอยู่ทางด้านที่แดดส่องถึง เพื่อให้เด็กๆ ได้รับแสงแดดยามเช้า บ่อทรายควรอยู่บริเวณนี้ ไม้เลื้อยบนกำแพง ต้นไม้ และแปลงดอกไม้ช่วยให้บริเวณนี้เป็นสถานที่ที่น่าสบายสำหรับเด็กๆ ส่วนที่สองอยู่ห่างจากตัวอาคารใช้เป็นที่เล่นและออกกำลังกาย ควรจัดเป็นอาณาจักรสำหรับเด็ก ทำทางสำหรับรถเข็นและทางสำหรับเดิน โดยออกแบบทางเดินให้โค้งไปมาน่าเดินและผ่านจุดที่น่าสนใจ เนินเขาเป็นจุดเสริมที่มีคุณค่ามากในสนามเด็กจะได้วิ่งขึ้นและลง เป็นการใช้กล้ามเนื้อหลายส่วนอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรมชาติ ส่วนหนึ่งของพื้นที่เป็นที่ตั้งของชิงช้า ไม้ลื่น ต้นไม้พุ่มเตี้ยๆ และปลูกไม้ดอกหรือพืชผักสวนครัว

อุปกรณ์ภายในห้องเรียน
        ควรมีอ่างล้างมือขนาดใหญ่ที่อยู่ในระดับต่ำพอที่เด็กๆ จะเอื้อมมือถึงระดับน้ำได้ง่าย ลอยเรือลำเล็กๆ หรือ แช่กระดาษวาดเขียนได้ มีช่องเก็บของส่วนตัวของเด็กแต่ละคน มีตู้ขนาดใหญ่สำหรับเก็บวัสดุที่ครูต้องใช้ มีชั้นสำหรับวางอุปกรณ์และของเล่น อาจมีมุมตุ๊กตา มุมงานช่าง มีโต๊ะสำหรับทำกิจกรรมที่มีน้ำหนักเบาที่เคลื่อนย้ายได้ ของเล่นที่จัดไว้เป็นของเล่นที่มีความสมบูรณ์น้อยแต่ชี้ช่องทางในการเล่นได้มาก เช่น ตุ๊กตาที่ไม่ได้วาดหน้าไว้อย่างตายตัว นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการเลือกใช้สีน้ำ พู่กัน กระดาษ สีเทียน ขี้ผึ้ง ที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะอีกด้วย

อุปกรณ์กลางแจ้ง
        อุปกรณ์ชิ้นสำคัญ คือ บ่อทรายที่บรรจุทรายพูนเหนือระดับดินเล็กน้อย มีม้านั่งยาวตัวเตี้ยล้อมรอบ สิ่งที่ให้ความเพลินเพลินแก่เด็กเป็นพิเศษ คือ บ้านเด็กเล่นที่ไม่ประณีตหรือเสร็จสมบูรณ์จนเกินไป โดยจัดเตรียมโครงไม้และหลังคาไว้เพื่อให้เด็กทำส่วนที่เหลือกันต่อเอง มีลังไม้สำหรับใส่อุปกรณ์กลางแจ้ง อุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ รถเข็นให้เด็กเข็นหรือลากไปตามทางเดิน หรือจะขึ้นไปนั่งก็ได้ มีชิงช้า ไม้ลื่น ราวสำหรับห้อยโหน ตาข่ายปีนป่าย มีอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น กระดาน นั่งร้าน บันได อิฐ พลั่ว ถัง เครื่องมือทำสวน เป็นต้น

แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมตามแนวคิดของมอนเตสซอรี่
        จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ (2549) ได้รวบรวมลักษณะของสิ่งแวดล้อมในอุดมคติของมอนเตสซอรี่ ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก-ปฐมวัยไว้ 4 ประเด็น ดังนี้

การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
        ทุกอย่างที่จัดไว้ในห้องเรียนมีขนาดเล็ก เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ โต๊ะ เก้าอี้ วัสดุอุปกรณ์อยู่ในสภาพที่เด็กหยิบออกมาใช้ได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ ถือหลักของความจริง ("Reality" principle) นำของจริงมาให้เด็กใช้ เนื่องจากเมื่อเด็กต้องช่วยเหลือตนเอง หรือช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เด็กต้องเข้าไปทำเป็นของจริง จึงนำของจริงมาใช้ในห้องเรียน เช่น แก้วจริง มีดจริงๆ สำหรับทำอาหาร และทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์จริง ทั้งนี้ ควรให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติรอบตัวเพื่อช่วยพัฒนาทั้งกายและจิต ให้เด็กมีความสนุกสนานในการสำรวจ และจัดการกับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ มีสิ่งช่วยกระตุ้นเด็กในห้องเรียน อาจจะเป็นภาพติดผนัง โต๊ะสำรวจธรรมชาติ สัตว์เลี้ยง เป็นต้น

การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อความสุนทรียะ
        คำว่า สุนทรียะ หมายถึง สภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่ควรมีความสวยงาม การตกแต่งที่เจริญหูเจริญตา มีสีสันไม่ร้อนแรง เพื่อให้เด็กซึมซับความงามของสิ่งต่างๆ รอบตัว ความสวยงามดังกล่าวเชื่อมต่อกับความมีระเบียบ เด็กได้รับการกระตุ้นที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมทางสุนทรียะมีคุณภาพและมีระเบียบด้วย ของทุกอย่างในห้องเรียนจะมีที่อยู่และกำหนดไว้อยู่แล้ว ของเหล่านี้จะวางในสภาพที่เด็กหยิบจับได้เอง ดังนั้น ความมีระเบียบและความงดงามหมดจดจะปรากฏให้เห็น วัสดุต่างที่ใช้ในห้องเรียนควรทำความสะอาดได้ง่าย หรือล้างได้เพื่อจะได้ฝึกให้เด็กมีนิสัยรักความสะอาด ซึ่งเป็นนิสัยที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลักของชีวิต (Sensitive periods) และสิ่งเหล่านี้จะติดตัวไปจนโต ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมทั้งมวลที่กล่าวมาแล้วจะช่วยสร้างให้เกิดบรรยากาศของความสงบและสันติ

การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อการใช้ปัญญา
        จุดแรกที่ต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับอุปกรณ์เพื่อการสอนที่จัดไว้ในสิ่งแวดล้อม จะต้องช่วยพัฒนาการใช้ปัญญาของเด็กผ่านกิจกรรมการสำรวจ เพราะเป็นวิถีทางที่เด็กเรียนรู้ตามขั้นตอนของพัฒนาการ จุดที่สองเกี่ยวกับอุปกรณ์ คือ ในห้องเรียนจะมีอุปกรณ์แต่ละชนิดเพียงชุดเดียว เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการแบ่งปัน การให้ความเคารพ และเห็นคุณค่าของวัสดุอุปกรณ์ ลักษณะเด่นเฉพาะของห้องเรียนมอนเตสซอรี่ คือ สถานการณ์ควบคุมความมีอิสระโดยการจัดอุปกรณ์ เด็กมีอิสระในการทดลองกับชุดอุปกรณ์ ได้เรียนรู้ที่จะใช้อุปกรณ์ตามจุดมุ่งหมายของอุปกรณ์แต่ละชิ้น ใช้ด้วยความระมัดระวัง และเคารพในอุปกรณ์ที่ใช้ รู้จักหมุนเวียนกันในการใช้อุปกรณ์ คืนอุปกรณ์สู่ที่เดิมในรูปแบบเดิมที่พร้อมสำหรับคนอื่นจะใช้

การจัดสภาพแวดล้อมทางสังคมและอารมณ์
        เด็กได้รับประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อมที่จัดเอาไว้เพื่อสนองความต้องการของเขา เด็กได้เรียนรู้ที่จะให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ ต่อเพื่อน และได้รับความเคารพจากผู้อื่นภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีลักษณะพิเศษ คือ การจัดกลุ่มในแนวตั้ง เป็นการจัดกลุ่มคละอายุ เพื่อให้เด็กมีโอกาสดูแลคนอื่น และได้รับการดูแลจากคนอื่น จุดเด่นอีกเรื่องหนึ่งคือ บรรยากาศที่มีระเบียบทำให้เด็กเคารพข้อตกลงภายใน (Inner rules) เด็กมีอิสระในการเลือกงาน เลือกที่นั่งทำงาน และเพื่อน เด็กจะซึมซับสภาพที่เงียบ มีระเบียบ สงบ ในบรรยากาศของความร่วมมือ ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและผู้ประสานงาน สังเกตเด็กในขณะที่ดูแลกลุ่มเด็ก และดูแลเด็กแต่ละวัยด้วยในเวลาเดียวกัน สาธิตการใช้อุปกรณ์ สังเกตและบันทึกการทำงานของเด็กกับอุปกรณ์และพฤติกรรมอื่นๆ

แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมตามหลักสูตรจุฬาลักษณ์
        น้อมศรี เคท และคณะ (2549) ได้จัดทำหลักสูตรจุฬาลักษณ์เพื่อเป็นแนวทางในการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กอนุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยใช้แนวคิดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการ การจัดศูนย์การเรียน และการทำโครงงาน หลักสูตรนี้ได้นำเสนอเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย ดังนี้

การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ

1) การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน
        จัดอาคารสถานที่และบริเวณโรงเรียนให้สะอาด ปลอดภัย สวยงาม สร้างบรรยากาศให้ปลอดโปร่ง สบายใจ ใกล้ชิดธรรมชาติ และกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมในชุมชน มีเครื่องเล่นสนามที่ตั้งในตำแหน่งที่ปลอดภัย อยู่ในสภาพดี เครื่องเล่นควรทำจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น จัดบริเวณสำหรับเล่นให้มีความหลากหลายทั้งในร่มและกลางแจ้ง มีพื้นผิวแตกต่างกัน เช่น หญ้า ดิน ปูน ไม้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการดูแลรักษา มีสถานที่ประกอบอาหารเป็นสัดส่วน สะอาด จัดสถานที่และเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารให้สะอาด และสวยงาม จัดน้ำดื่มให้พอเพียงให้เด็กดื่มได้โดยสะดวก มีห้องส้วมเพียงพอ โดยให้มีขนาดและตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก ดูแลให้สะอาดถูกสุขลักษณะ มีอุปกรณ์และสถานที่สะอาดและเหมาะสมในการทำความสะอาดร่างกาย เช่น ล้างมือ ล้างหน้า แปรงฟัน รวมทั้งจัดถังขยะให้เพียงพอและเหมาะสมกับการใช้งาน และดูแลรักษาด้วย

2) การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน
        ห้องเรียนควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงสว่างเพียงพอและสม่ำเสมอทั่วห้อง โต๊ะเก้าอี้มีขนาดเหมาะสมกับวัย น้ำหนักเบาให้เด็กเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวกเด็กแต่ละคนมีเครื่องใช้ส่วนตัวในการทำความสะอาดร่างกาย และเครื่องใช้ในการนอน โดยจัดเก็บเป็นระเบียบ สวยงาม ใช้วัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่งห้องเรียนให้สวยงาม เลือกสรรวัสดุอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ที่มีความสร้างสรรค์ ทนทาน หลากหลายมาใช้งาน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและความทนทาน มีการจัดระบบการวางวัสดุอุปกรณ์ให้เด็กหยิบใช้ได้โดยสะดวก มีการตรวจสอบความสะอาด ความพร้อมในการใช้งานของวัสดุอุปกรณ์และสื่ออย่างสม่ำเสมอ เลือกสถานที่ในการเรียนรู้ให้เหมาะกับลักษณะของกิจกรรม เช่น กิจกรรมที่สงบอยู่ไกลจากกิจกรรมที่ใช้เสียง กิจกรรมที่ต้องการแสงสว่างอยู่ใกล้กับหน้าต่าง เป็นต้น จัดการจราจรทั้งในและนอกห้องเรียนให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหวของเด็กขณะทำกิจกรรม สิ่งสำคัญคือสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้อบอุ่น เป็นมิตร และเต็มไปด้วยความรักความเมตตา

การจัดสภาพแวดล้อมทางบุคคล

1) บุคลิกภาพของครู
        บุคลิกภาพของครูช่วยเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในห้องได้เป็นอย่างดี ครูควรยิ้มแย้มแจ่มใส มีกิริยามารยาทแบบไทย แต่งกายเหมาะสมกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ใช้ภาษาถูกต้องชัดเจน เต็มใจตอบคำถามของเด็ก พูดกับเด็กด้วยเสียงนุ่มนวลเป็นมิตร และพูดชี้แจงเหตุผลแก่เด็กด้วยน้ำเสียงปกติ

2) การจัดการชั้นเรียนของครู
        ครูควรใส่ใจดูแลให้เด็กอยู่ร่วมกันในห้องเรียนอย่างมีความสุข พร้อมทั้งเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของตนด้วย จึงต้องมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกัน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ มีแนวทางปฏิบัติเมื่อเด็กไม่ทำตามข้อตกลง และแก้ไขปัญหาเมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น

3) การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก
        ความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูกับเด็กช่วยเสริมสร้างให้เด็กรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย สร้างความมั่นใจในตนเอง และเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ครูควรสร้างความสัมพันธ์กับเด็กด้วยท่าทาง เช่น ยิ้ม สัมผัส ทักทายและพูดคุยกับเด็กทั้งเมื่อเด็กมาถึง ขณะรับประทานอาหาร เตรียมตัวทำกิจกรรม หรือเด็กลากลับบ้าน ดูแลเด็กที่มีปัญหาสุขภาพ ไม่สบาย หรือต้องการกำลังใจ รับฟังเมื่อเด็กพูดด้วย ให้โอกาสเด็กที่ต้องการพูดคุยกับครู ตอบเมื่อเด็กถาม และยอมรับการช่วยเหลือของเด็ก

4) การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียน
        ครูมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับโรงเรียน ครูจึงควรสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครองด้วยการจัดทำป้ายนิเทศซึ่งมีสาระเกี่ยวกับเด็ก ผู้ปกครอง ชุมชน และโรงเรียน จัดทำจดหมายข่าวถึงผู้ปกครอง กระตุ้นให้ผู้ปกครองแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทางโรงเรียน สนับสนุนให้ผู้ปกครองเยี่ยมชั้นเรียนของบุตรหลาน จัดประชุมสัมมนาระหว่างผู้ปกครองและครู รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ทำงานอาสาสมัครร่วมกับทางโรงเรียน