Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

( ตัวอย่าง )
การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
เรื่อง การแก้ปัญหาเด็กไม่นอนพักผ่อนในช่วงกลางวัน
นางสาวนฤมล เนียมหอม
ครูประจำชั้นอนุบาลปีที่ 1/1 โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ

ความเป็นมา

        การนอนกลางวันเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็ก โดยปกติเด็กจะทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานตลอดเวลา เมื่อถึงเวลานอนพักผ่อนกลางวันจะหลับได้โดยง่าย แต่น้องแม็ค (ชื่อสมมติ) ปฏิเสธการนอน และแสดงอาการหวาดกลัวที่จะต้องนอนกลางวัน โดยไม่ยอมแม้กระทั่งจะสัมผัสที่นอน และหนีไปนั่งหน้าห้อง เด็กคนอื่นแม้ไม่คุ้นเคยกับการนอน แต่ก็ยอมนอน หรือนั่งในที่นอนของตน จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

สาเหตุของปัญหา

        ความไม่ไว้วางใจในห้องเรียนใหม่ ครูและพี่เลี้ยงใหม่ ประกอบกับน้องแม็คเป็นเด็กที่ค่อนข้างจะปรับตัวยากในการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงใดๆ

แนวทางการแก้ปัญหา

        สร้างความไว้วางใจ ทำให้น้องแม็ครู้สึกว่าการนอนที่โรงเรียนเป็นเรื่องธรรมดา ใช้กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป

การดำเนินการ

วันที่

การดำเนินการของครู

พฤติกรรมการนอน

ของน้องแม็ค

22-26 พ.ค.49

ครูยอมให้ไปนั่งหน้าห้อง

ไม่ยอมแตะที่นอน ครูปูให้ก็เดินหนี

29 พ.ค.49

ครูถามแม็คว่ากลัวอะไรหรือเปล่าถึงไม่ยอมนอน

แม็คตอบว่าไม่อยากนอน อยู่บ้านก็ไม่นอน

ไม่ยอมอยู่ที่ที่นอน เดินไปนั่งนอกห้องเรียน

30-31 พ.ค.49

นั่งที่พื้นในห้อง ครูอ้อมาคุยด้วย ครูเอาที่นอนมาปูใกล้ๆที่แม็คนั่ง

ยังคงนั่งหน้าห้องเรียน ครูหางานให้ช่วยทำ

วันที่

การดำเนินการของครู

พฤติกรรมการนอน

ของน้องแม็ค

1 มิ.ย.49

บอกว่าไม่ต้องนอนก็ได้แต่ต้องนั่งที่ที่นอน ครูจัดที่พิเศษไว้ให้ข้างโต๊ะครู บอกว่าอยู่นอกห้องครูเป็นห่วง กลัวใครมาจับไป

ร้องไห้ ยอมนั่งสักครู่ แล้วเดินออกไปหน้าห้อง

2 มิ.ย.49

วันนี้ร้องไห้บอกว่าไม่อยากมาโรงเรียนไม่อยากนอนที่โรงเรียน ครูคุยด้วยบอกว่าไม่ต้องนอนก็ได้ เพียงแต่นั่งอยู่ในที่ของตัวไม่เดินไปมาเพราะจะรบกวนผู้อื่น

เริ่มยอมมานั่งที่ที่นอนที่ครูปูให้ด้วยตนเอง (ครูชวนคุยด้วยทุกวัน)

5-8 มิ.ย.49

ครูเชิญชวนให้นอนแต่ปฏิเสธโดยตลอด

นั่งที่ที่นอนตลอดช่วงที่เพื่อนนอน

14 มิ.ย.49

ครูชวนให้มาหยิบที่นอนไปปูเอง

ยอมมาหยิบที่นอนไปปู และนั่งอยู่ที่ที่นอนตลอดช่วงที่เพื่อนๆ นอน

15 มิ.ย.49

ครูเชิญชวนให้นอนแต่ปฏิเสธโดยตลอด และบอกว่าแม็คชอบนั่ง

นั่งที่ที่นอนตลอดช่วงที่เพื่อนนอน

16 มิ.ย.49

ครูคุยด้วยบอกว่าครูเมื่อยหลังจังขอนอนข้างๆ แม็คได้ไหม เมื่อแม็คพยักหน้า ครูนอนด้านหนึ่งของที่นอนและบอกแม็คว่าลองนอนสิ ไม่ค่อยเมื่อยหลัง แม็คยอมนอนสักครู่ แล้วลุกขึ้นนั่ง ครูลองเอาหมอนพิงตู้และสอนให้นั่งพิงและเหยียดขา จะได้ไม่เมื่อย

แม็คยอมนอนเมื่อครูนอนด้วยครูถามว่ากลัวไม่ตื่นหรือไง แม็คตอบว่าใช่ ครูบอกว่าไม่ต้องกลัว ครูไม่ยอมให้ใครหลับที่โรงเรียนหรอกต้องปลุกให้ตื่นกลับบ้านทุกคน แม็คยิ้ม

19-23 มิ.ย.49

ครูชวนให้นอน แต่แม็คปฏิเสธบอกครูว่าแม็คชอบนั่งมากกว่า

แม็คหยิบที่นอนมาปู เอาหมอนพิงตู้และนั่งพิง

26 มิ.ย.49

ครูอุ้มจากท่านั่งเป็นนอน นั่งเป็นเพื่อนสักครู่ และบอกว่านอนเล่นๆ ไม่ต้องหลับก็ได้ เมื่อเพื่อนๆ ตื่น ครูเข้าไปพูดคุยด้วย และบอกว่าตัวแม็คหมุนเหมือนเข็มนาฬิกา แม็คหัวเราะ

ยอมนอนราบลงกับที่นอน นอนหมุนไปมาแต่ไม่หลับ

27 มิ.ย.49

เมื่อปูที่นอนเสร็จ ครูพูดเตือนว่าให้นอนเล่นๆ อีก จะหมุนเป็นเข็มนาฬิกาก็ได้

นั่งที่ที่นอน ครูต้องช่วยจับตัวลงนอนเบาๆ จึงยอมนอน และหมุนเล่นอีก

 

วันที่

การดำเนินการของครู

พฤติกรรมการนอน

ของน้องแม็ค

28 มิ.ย.49

เมื่อปูที่นอนเสร็จ ครูพูดเตือนว่าให้นอนเล่นๆ อีก จะหมุนเป็นเข็มนาฬิกาก็ได้

นอนด้วยตนเอง โดยครูไม่ได้เตือน

29 มิ.ย.49

พอตื่นครูไปถามว่าสบายไหม และบอกว่าเห็นไหมว่าครูต้องให้แม็คตื่นกลับบ้านจนได้ แม็คยิ้ม

นอนหลับครั้งแรก


 สรุปผลการดำเนินการ

        การช่วยเหลือให้น้องแม็คนอนกลางวันใช้เวลารวมทั้งสิ้น 49 วัน การดำเนินการช่วยเหลือมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป ดำเนินการเพื่อช่วยให้น้องแม็คค่อยๆ ปรับตัวและไม่กลัวครูและพี่เลี้ยง รวมถึงไม่กลัวการนอนที่โรงเรียนอย่างผสมกลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน ครูพยายามให้น้องแม็คค่อยๆ คุ้นเคยกับสิ่งของที่ต้องใช้ในการนอนทีละน้อย จัดที่พิเศษให้ รวมถึงมีการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดียิ่งระหว่างครูกับน้องแม็คจึงได้ผลดี

ความคิดเห็นของครู

        น้องแม็คเป็นเด็กที่ปรับตัวยากมากกว่าเด็กทั่วไป การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใดๆ จึงต้องเริ่มด้วยการสร้างความไว้วางใจเสียก่อน และเมื่อจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ครูจะต้องให้น้องแม็คได้รับรู้ไว้ล่วงหน้า เสนอแนวทางให้น้องแม็ครู้ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง รวมทั้งยืนยันให้รู้ว่าครูจะคอยดูแลช่วยเหลืออยู่เสมอ การดำเนินการเช่นนี้สามารถนำไปปรับใช้กับเด็กที่ปรับตัวยากในเรื่องอื่นๆ ได้เช่นกัน