Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   
(ตัวอย่าง)
การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
เรื่อง การส่งเสริมทักษะการใช้กรรไกร
นางสาวนฤมล เนียมหอม
ครูประจำชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ

ความเป็นมา

        ตามพัฒนาการปกติ เด็กอายุ 5 ขวบ จะสามารถตัดกระดาษตามแนวเส้นได้ แต่จากผลการประเมินพัฒนาการในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 พบว่า เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 สามารถตัดกระดาษตามแนวเส้นได้เพียง 8 คน จากเด็กทั้งหมด 26 คน คิดเป็นร้อยละ 30.77 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความช่วยเหลือเด็กให้มีพัฒนาการตามปกติ

สาเหตุของปัญหา

        จากการสังเกตการทำงานศิลปะในห้องเรียน พบว่า เด็กให้ความสนใจต่อกิจกรรมที่ต้องใช้กรรไกรค่อนข้างน้อย เมื่อครูเชิญชวนให้เลือกทำกิจกรรมที่ใช้กรรไกร เด็กจะบอกว่ากรรไกรแข็ง ตัดยาก ครูจึงสำรวจอุปกรณ์และพบว่ากรรไกรปลายมนขนาดเล็กส่วนใหญ่จะมีความฝืดค่อนข้างมาก จึงสรุปเป็นสาเหตุของปัญหาในเบื้องต้น ดังนี้

        ปัญหาเบื้องต้น กรรไกรที่จัดให้เด็กใช้ มีสภาพไม่เอื้อต่อการใช้งานของเด็ก ทำให้เด็กเบื่อที่จะทำกิจกรรมที่ต้องใช้กรรไกร เมื่อเด็กทำกิจกรรมที่ใช้กรรไกรค่อนข้างน้อยทำให้ขาดทักษะการใช้กรรไกร

        เมื่อครูจัดหากรรไกรชุดใหม่ที่มีสภาพเอื้อต่อการใช้งานของเด็กมาให้เด็กใช้ พบว่า เด็กยังไม่ค่อยสนใจทำกิจกรรมที่ต้องใช้กรรไกร จึงตั้งสมมุติฐานซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ดังนี้

        ปัญหาที่แท้จริง การที่เด็กทำกิจกรรมการใช้กรรไกรค่อนข้างน้อยเนื่องจากครูจัดวางวัสดุอุปกรณ์ไว้ให้เด็กเลือกใช้ด้วยตนเอง แต่ไม่ได้จัดกิจกรรมทางเลือกที่น่าสนใจ เมื่อตัวเลือกซ้ำเดิมคือเลือกตัดภาพจากใบปลิวโฆษณาหรือวารสารเก่า ทำให้เด็กไม่สนใจที่จะเลือกทำกิจกรรม สาเหตุที่แท้จริงจึงอยู่ที่การไม่ได้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้มีความน่าสนใจสำหรับเด็ก เมื่อเด็กไม่ได้ทำกิจกรรมการใช้กรรไกรอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องจึงขาดทักษะการใช้กรรไกร

แนวทางการแก้ปัญหา

        จัดกิจกรรมให้เด็กได้ใช้กรรไกรในลักษณะที่มีความน่าสนใจ มีความแปลกใหม่ที่สอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้ ให้เด็กเลือกทำกิจกรรมตลอดทั้งภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550

กิจกรรมที่จัดให้เด็กได้ใช้กรรไกรตามหน่วยการเรียนรู้ มีรายละเอียดดังนี้

หน่วยการเรียนรู้

กิจกรรมส่งเสริมการใช้กรรไกร

อิ่มอร่อย

- ตัดภาพอาหารที่เด็กๆ ชอบรับประทาน

ขอขมาพระแม่คงคา

- ตัดภาพกระทงที่ครูเตรียมไว้ให้มาประกอบภาพวาด

  วันลอยกระทง

- ตัดกระดาษทำธงสามเหลี่ยมที่ใช้เป็นป้ายชื่อที่กระทงดอกบัว

หนูรักในหลวง

- ตัดภาพวาดมือของเด็กๆ เพื่อนำไปประดิษฐ์เป็นดอกพุทธรักษา

- ตัดภาพหัวใจเพื่อใช้ในกิจกรรมต้นไม้ความดี

- ตัดภาพหัวใจทำการ์ดวันพ่อ

รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย

- ตัดกระดาษเพื่อทำธงชาติไทย

- ตัดภาพที่เด็กๆ วาดมาใช้ตกแต่งกระถางสำหรับปลูกต้นไม้

- ตัดภาพช้างทำกิจกรรมคืนช้างสู่ป่า

ปีใหม่ ชีวิตใหม่

- ตัดกระดาษทำสายรุ้งสำหรับตกแต่งห้องเรียน

- ตัดกระดาษรูปถุงเท้า ทำถุงเท้าคริสต์มาส

วันเด็ก วันครู

- ตัดกระดาษทำหน้ากากอาชีพที่หนูชอบ

- ตัดภาพหัวใจมาทำเป็นโมบายรักคุณครู

ปีเตอร์แพน

- ตัดกระดาษทำดาวที่บ้านของเวนดี้

- ตัดกระดาษที่พับรูปจระเข้ติ๊กตอก

- ตัดภาพวาดมือของเด็กๆ เพื่อนำไปประดิษฐ์รุ้งกินน้ำที่

  เนเวอร์แลนด์


ผลการดำเนินการ
        ผลการดำเนินการแสดงไว้ในตารางต่อไปนี้

ลักษณะของการตัดกระดาษ

ก่อนการวิจัย

หลังการวิจัย

จำนวน

ร้อยละ

จำนวน

ร้อยละ

ตัดกระดาษไม่ตรงตามแนวเส้น หรือตัดตามแนวเส้นได้แต่มีรอยหยักค่อนข้างมาก

18

69.23

0

0.00

ตัดกระดาษตรงตามแนวเส้นได้ โดยมี

รอยหยักเล็กน้อย

8

30.77

14

53.85

ตัดกระดาษตรงตามแนวเส้นได้ โดยไม่มี

รอยหยัก

0

0.00

12

46.15


        ก่อนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนมีเด็กร้อยละ 69.23 ตัดกระดาษไม่ตรงตามแนวเส้น หรือตัดตามแนวเส้นได้แต่มีรอยหยักค่อนข้างมาก และร้อยละ 30.77 ตัดกระดาษตรงตามแนวเส้นได้ รอยหยักเล็กน้อย และร้อยละ 46.15 สามารถตัดกระดาษตรงตามแนวเส้นได้ โดยไม่มีรอยหยัก ไม่มีเด็กที่ตัดกระดาษไม่ตรงตามแนวเส้น หรือตัดตามแนวเส้นได้แต่มีรอยหยักค่อนข้างมาก

ความคิดเห็นของครู

        การใช้กรรไกรเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่จำเป็นสำหรับเด็ก การที่เด็กจะมีทักษะใดๆ ได้ต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ จึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมให้มีความแปลกใหม่ และเหมาะสมกับวัยให้เด็กเลือกทำตามความสนใจอย่างต่อเนื่อง จึงช่วยให้เด็กมีทักษะในเรื่องนี้อย่างเหมาะสม


*** บทความนี้สามารถดาวน์โหลดไฟล์รูปแบบ pdf ได้ ***  



ความคิดเห็นผู้ใช้

เสนอแนะโดย pawinee เปิด 2010-09-03 17:40:54
ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะค่ะ

เสนอแนะโดย momket เปิด 2010-11-06 10:53:46
ขอบพระคุณสำหรับความรู้ค่ะ กำลังจะทำวิจัยกับเด็ก ๆ

เสนอแนะโดย chiranankung เปิด 2012-04-07 20:40:45
ขอบคุณสำหรับข้อมูดีๆค่ะ

เสนอแนะโดย aungaung เปิด 2012-04-24 20:46:09

เสนอแนะโดย sirilak เปิด 2012-08-31 21:34:25
ขออนุญาตนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาเด็กในห้องเรียนน๊ะค๊ะ ขอบคุณมากค่ะ

เสนอแนะโดย jin02 เปิด 2014-09-14 13:47:37

เสนอแนะโดย virat เปิด 2016-03-10 12:07:26
เยี่ยมมากๆๆ ครับ

Please login or register to add comments