Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

พฤติกรรมของเด็กปฐมวัยที่เกี่ยวข้องกับวินัยในตนเอง

        พฤติกรรม หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่บุคคลกระทำ ทั้งในทางที่ดี ไม่ดี ถูก ผิด มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ มีประสิทธิภาพ หรือสูญเปล่า (Charles, 2002: 2) พฤติกรรมเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวินัย-ในตนเองอย่างใกล้ชิด ครูที่ต้องการสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กจำเป็นต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมของเด็ก ทั้งในด้านปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็ก พฤติกรรมที่นำไปสู่การมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย และมุมมองของครูต่อพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของเด็ก เพื่อให้ครูสามารถปฏิบัติต่อเด็กได้อย่างเหมาะสม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็ก

        พฤติกรรมของเด็กเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ การรู้ว่าปัจจัยใดที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กช่วยให้ครูเข้าใจเด็กได้ดียิ่งขึ้น Gordon และ Browne (1995: 199-204) ได้นำเสนอปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งเป็นผลจากธรรมชาติ (Nature) และการเลี้ยงดู (Nurture) ดังนี้

1. ปัจจัยด้านพัฒนาการ เด็กแต่ละวัยจะมีพฤติกรรมและความสามารถที่แตกต่างกัน ครูจำเป็นต้องรู้และตระหนักถึงพัฒนาการของเด็ก เพื่อที่จะเข้าใจว่าทำไมเด็กจึงแสดงพฤติกรรมเช่นนั้น และเพื่อให้การตั้งความคาดหวังต่อพฤติกรรมของเด็กเป็นไปอย่างเหมาะสม

2. ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ในเรื่องของสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เวลาและกำหนดการในแต่ละวัน และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
   
    2.1 สภาพแวดล้อมทางกายภาพในห้องเรียนปฐมวัยมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของเด็ก ทั้งในเรื่องขนาดของเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ การจัดแบ่งพื้นที่ ระดับของการจัดวางวัสดุอุปกรณ์ วัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับพัฒนาการและความสนใจของเด็กจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน
    2.2 การจัดเวลาให้เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ครูต้องจัดเวลาให้เหมาะสมกับความจำเป็น และความต้องการของเด็กอย่างรอบคอบ ทั้งเวลาในการทำกิจกรรม เก็บของและทำความสะอาด รับประทานอาหาร นอน เข้าห้องน้ำ รวมถึงรอยต่อระหว่างกิจกรรมด้วย ลำดับของกิจกรรมต่างๆ ควรมีความคงที่เพื่อให้เด็กคาดเดาได้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไป
    2.3 ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษเพราะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้คน บรรยากาศที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ที่เด็กจะรู้สึกไว้วางใจ เป็นบรรยากาศของการสนับสนุนและช่วยเหลือกัน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก เด็กกับเด็ก ครูกับพ่อแม่ และครูกับครูคนอื่นๆ ความสัมพันธ์เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กทั้งสิ้น
    2.4 สิ่งอื่นๆ ที่มีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ได้แก่ สภาพอากาศ เสียง ลม แสง เหตุการณ์ในครอบครัว ความเจ็บป่วย รายการโทรทัศน์ ภาวะโภชนาการ เป็นต้น

3. ความแตกต่างระหว่างบุคคล เด็กแต่ละคนจะมีลักษณะเฉพาะของตนเองซึ่งไม่เหมือนคนอื่น เด็กแต่ละคนมีพื้นอารมณ์ (Temperament) ซึ่งเป็นแนวโน้มในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด และยังคงอยู่แม้ว่าจะเข้าโรงเรียนแล้วก็ตาม การที่ครูรู้จักธรรมชาติหรือพื้นอารมณ์ของเด็ก ทำให้สามารถตอบสนองต่อเด็กได้อย่างเหมาะสม และทำให้เกิดความระมัดระวังที่จะไม่ตีตราเด็กอย่างไม่ยุติธรรมด้วย

4. ความต้องการด้านอารมณ์และสังคม เด็กๆ มีความต้องการความรัก และการเอาใจใส่ ต้องการรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นคนที่มีคุณค่าและมีความสำคัญ ต้องการเพื่อน และต้องการความรู้สึกที่ปลอดภัย เด็กๆ จะแสดงออกเพื่อความต้องการในเรื่องเหล่านี้ ครูต้องช่วยให้เด็กรับมือกับความรู้สึกเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม

5. อิทธิพลของวัฒนธรรม เด็กถูกหล่อหลอมด้วยความเชื่อ และวัฒนธรรมของครอบครัว เด็กจะแสดงพฤติกรรมตามที่ได้รับการเลี้ยงดูมา ครูต้องมีความละเอียดอ่อน มีความยืดหยุ่น และไม่ตัดสินพฤติกรรมของเด็กอันเกิดจากวัฒนธรรมของครอบครัว

พฤติกรรมที่นำไปสู่การมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย

        Gordon และ Browne (1996: 214-216) กล่าวถึงเส้นทางที่จะนำไปสู่วินัยในตนเองของเด็กวัย 3-5 ปี (Road to self discipline) ไว้ว่า เด็กต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อที่จะนำไปสู่การเป็นเด็กที่มีวินัยในตนเองไว้ ดังนี้

1. เรียนรู้ที่จะควบคุมตนเอง (Learning self-control) พฤติกรรมที่เด็กเรียนรู้ ได้แก่ การรับฟังผู้อื่น การยอมรับข้อจำกัดในการแสดงพฤติกรรม การเรียนรู้ว่าตนเองไม่ใช่ศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง การคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น การเรียนรู้ที่จะแสดงความรู้สึกด้วยคำพูด การเรียนรู้ที่จะแบ่งปันและรอคอย การปฏิบัติตามข้อตกลง และ การระงับความรู้สึกหรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าว

2. เรียนรู้ที่จะตระหนักถึงความเป็นตนเอง และเชื่อมั่นในตนเอง (Learning self-awareness and confidence) พฤติกรรมที่เด็กเรียนรู้ ได้แก่ การสร้างมิตรภาพกับผู้ใหญ่ การกล้าแสดงออก การยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือสถานการณ์ใหม่ ความภาคภูมิใจในความสำเร็จ การแสดงออกทางวาจาว่าชอบหรือไม่ชอบ การตระหนักถึงร่างกายของตนที่พัฒนาขึ้น และการรู้จักตนเอง

3. เรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง (Becoming autonomous) พฤติกรรมที่เด็กเรียนรู้ ได้แก่ การเลือกเพื่อนหรือกิจกรรมด้วยตนเอง การช่วยเหลือตนเอง การแยกจากพ่อแม่ การปฏิบัติงานจนสำเร็จ การริเริ่มการเรียนรู้ของตนเอง และการฝึกหัดเลือกและตัดสินใจ

4. เรียนรู้ที่จะร่วมมือ (Learning cooperate) พฤติกรรมที่เด็กเรียนรู้ ได้แก่ การทำงานเป็นกลุ่มเล็กๆ การมีส่วนช่วยเหลือในการตัดสินใจของกลุ่ม การเล่นเป็นกลุ่มหรือเล่นเกมการแข่งขัน การช่วยทำงานในบ้าน การช่วยงานของผู้ใหญ่ การรู้จักเอาอกเอาใจผู้ใหญ่ และการตระหนักถึงความสำคัญของข้อตกลง

5. เรียนรู้ที่จะร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น (Becoming empathetic) พฤติกรรมที่เด็กเรียนรู้ ได้แก่ ความเกรงใจ การช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก และเห็นใจสงสารผู้อื่น ความรักและพอใจต่อเด็กที่เล็กกว่า การเริ่มตระหนักว่าพฤติกรรมของตนมีผลต่อผู้อื่น และ การยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่น

6. เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา (Becoming a problem solver) พฤติกรรมที่เด็กเรียนรู้ ได้แก่ การใช้เหตุผล การทำความตกลง การมองสถานการณ์อย่างแตกต่าง ความสามารถในการพูดเจรจาตกลง และ การระบุถึงข้อขัดแย้ง

7. เรียนรู้ที่จะพัฒนาความรู้สึกทางศีลธรรม (Developing a moral consciousness) พฤติกรรมที่เด็กเรียนรู้ ได้แก่ การเข้าใจว่าพฤติกรรมหนึ่งๆ จะมีผลที่ตามมา การเริ่มเห็นความสัมพันธ์ของเหตุและผล การเริ่มตระหนักว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก และ การเข้าใจว่าการลงโทษเป็นผลจากการกระทำ

        ระยะปฐมวัยเป็นวัยที่เด็กเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง (Sense of self) การส่งเสริมพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการพัฒนาอัตลักษณ์แห่งตน (Self identity) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาวินัยในตนเองให้แก่เด็ก

มุมมองของครูที่มีต่อพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของเด็ก

        เมื่อกล่าวถึงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของเด็ก พบว่า มีการกล่าวถึงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับ 2 ลักษณะ คือ การประพฤติผิด (Misbehavior) และ พฤติกรรมที่ผิดพลาด (Mistaken behavior) ดังนี้

1. การประพฤติผิด หมายถึง การกระทำที่เกิดจากความตั้งใจ โดยที่การกระทำนั้นไม่เหมาะสมกับสถานที่ หรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ (Charles, 2002: 2-3) แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
    1.1 ความก้าวร้าว (Aggression) เป็นการทำร้ายทั้งทางกายและทางวาจา ต่อครู ต่อเพื่อน และสิ่งอื่นๆ
    1.2 ผิดศีลธรรม (Immorality) เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักศีลธรรม เช่น โกหก หลอกลวง ขโมย ฯลฯ
    1.3 ท้าทายอำนาจ (Defiance of authority) เป็นการปฏิเสธหรือฝ่าฝืนที่จะกระทำตามที่ครูขอให้ทำ
    1.4 รบกวนชั้นเรียน (Class disruptions) เช่น พูดเสียงดัง ตะโกน เดินไปเดินมา ขว้างปาข้าวของ ฯลฯ
    1.5 ไม่สนใจเรียน (Goofing off) เช่น ไม่ทำงานที่ได้รับมอบหมาย เหม่อลอย ฯลฯ
Charles ได้ให้ความหมายของวินัยว่าเป็นสิ่งที่ครูทำเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ประพฤติผิดให้มีพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับ โดยสิ่งที่ครูกระทำมีทั้งการป้องกัน ระงับหรือหยุดการประพฤติผิดนั้น อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่าการปลูกฝังวินัยให้แก่เด็กควรมีเป้าหมายในการสร้างวินัยในตนเอง ไม่ควรเป็นการกระทำเพียงแค่หยุดการประพฤติผิดเท่านั้น

2. พฤติกรรมที่ผิดพลาด เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่มีต่อพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของเด็ก Gartrell (1994: 30-54) ได้นำเสนอมุมมองใหม่ต่อพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของเด็กในลักษณะของพฤติกรรมที่ผิดพลาด โดยมุมมองนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่าเด็กมีประสบการณ์และพัฒนาการที่จำกัด ระยะปฐมวัยเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับสังคม หากเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับ แล้วผู้ใหญ่มองพฤติกรรมของเด็กในลักษณะของการประพฤติผิด ย่อมหมายถึงเด็กรู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด และเด็กตั้งใจทำผิด หากมองพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นข้อผิดพลาดของเด็กอันเนื่องมาจากการยังไม่มีวุฒิภาวะทางสติปัญญาและอารมณ์ของเด็ก ถือเป็นมุมมองที่ยอมรับในความแตกต่างและความเป็นปัจเจกของเด็กมากกว่า อันจะนำไปสู่การช่วยเหลือให้เด็กเรียนรู้และแสดงออกในทางที่เหมาะสมยิ่งขึ้น