Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

หลักการสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
หลักการสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย ประกอบด้วย

1. หลักของการบูรณาการ การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการพัฒนา และการเรียนรู้ (Gootman, 2001: 19) การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กจึงเป็นการปฏิบัติที่บูรณาการกับการใช้ชีวิต ไม่ใช่กิจกรรมหรือการฝึกทักษะที่แยกต่างหากจากชีวิตประจำวันของเด็ก

2. หลักของการยอมรับนับถือ การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กอยู่บนพื้นฐานของความ-สัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ซึ่งจะต้องยอมรับในศักดิ์ศรีและความเป็นองค์รวมของมนุษย์ (Kindsvatter, Wilen, and Ishler, 1996: 86) ครูต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก มีความใส่ใจต่อเด็ก ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก ทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจในตัวครู และทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเป็นที่ยอมรับในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม การที่เด็กและครูมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันช่วยให้ครูเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ด้านสังคมของเด็ก (Gartrell 1994: 58; Gootman, 2001: 14-15)

3. หลักของเสรีภาพในการนำตนเอง การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็ก ครูต้องส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาการควบคุมตนเอง ด้วยวิถีทางที่ทั้งครูและเด็กรู้สึกดีต่อตนเอง (Gootman, 2001: 2; Kindsvatter et al., 1996: 86) การที่ครูช่วยให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง พึ่งตนเองได้ ริเริ่มได้อย่างอิสระ ทำให้เด็กมีวินัยในตนเองเพราะรู้สึกว่าตนมีความสามารถ มีจุดมุ่งหมายและควบคุมตนเองได้ (Leatzow et al., 2542: 35)

4. หลักของการสร้างความเคยชิน การฝึกวินัยที่ดีที่สุดต้องอาศัยธรรมชาติของมนุษย์ ต้องเริ่มจากการยอมรับว่ามนุษย์ส่วนใหญ่อยู่ด้วยความเคยชิน การสร้างวินัยจึงต้องทำให้วินัยเป็นพฤติกรรมที่เคยชิน โดยพยายามเอาพฤติกรรมที่ดี ที่มีวินัยให้เด็กทำเป็นครั้งแรกก่อน หลังจากนั้นเมื่อทำบ่อยๆ ซ้ำๆ ก็จะเกิดความเคยชิน และเป็นวิถีชีวิตในที่สุด (พระธรรมปิฎก, 2538: 18-22) การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็ก ครูต้องช่วยให้เด็กลดพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับ ประกอบกับการช่วยให้เด็กรู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี เป็นที่ยอมรับของสังคม แล้วสนับสนุนให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่ดีซ้ำๆ จนกลายเป็นลักษณะนิสัยในที่สุด

5. หลักของความร่วมมือ การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการทำงานเป็นทีมระหว่างครู ผู้ช่วยครู ผู้บริหาร หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ และการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับพ่อแม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกับพ่อแม่ ครูต้องทำให้พ่อแม่รู้สึกสบายใจในการสื่อสารกับครู เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเด็ก การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่ทำให้เด็กรู้สึกเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อสังคม และได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม (Gartrell, 1994: 77-85)

บทบาทของครูในการสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย

        ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย การสร้างวินัยให้แก่เด็กจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของครูเป็นสำคัญ (Frazee and Rudnitski, 1995:177; Kindsvatter and Levine, 1980: 691) เนื่องจากครูเป็นผู้เลือกวิธีการ แนวทาง หรือเทคนิคต่างๆ มาใช้ให้เหมาะสมกับเด็ก โรงเรียน และชุมชน ทั้งนี้ บทบาทของครูในการสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัยสรุปได้ 4 ด้าน คือ การเป็นแบบอย่าง การจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็ก การดูแลเด็ก และการจัดสภาพแวดล้อม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. การเป็นแบบอย่าง
        คุณลักษณะของตัวแบบมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก การเป็นแบบอย่างของครูถือเป็นเครื่องมือในการสอนที่ดีที่สุด (Gordon and Browne,1995: 13) เนื่องจากการเรียนรู้ส่วนมากจะเป็นการเรียนรู้ด้วยการสังเกต หรือการเรียนรู้จากตัวแบบ ดังทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมเชิงพุทธิปัญญาของแบนดูรา (Social Cognitive Learning Theory) ซึ่งมีความคิดพื้นฐานของทฤษฎี (สุรางค์ โค้วตระกูล, 2544: 235-248) ดังนี้

        1) การเรียนรู้เป็นผลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและสิ่งแวดล้อม โดยผู้เรียนและสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อกันและกัน ทั้งบุคคลที่ต้องการจะเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุของพฤติกรรม

        2) การเรียนรู้ (Learning) แตกต่างจากการกระทำ (Performance) ความแตกต่างนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะมนุษย์อาจเรียนรู้หลายอย่างแต่อาจไม่กระทำก็ได้ พฤติกรรมของมนุษย์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ พฤติกรรมสนองตอบที่เรียนรู้ซึ่งแสดงออกสม่ำเสมอ พฤติกรรมที่เรียนรู้แต่ไม่เคยแสดงออก และพฤติกรรมที่ไม่เคยแสดงออกเพราะไม่เคยเรียนรู้จริงๆ

        3) พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจะไม่คงตัวอยู่สม่ำเสมอ เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ กระบวนการที่สำคัญของการเรียนรู้ด้วยการสังเกต ประกอบด้วย

            1) กระบวนการใส่ใจ (Attention) ผู้เรียนจะรับรู้ส่วนประกอบที่สำคัญของพฤติกรรมของผู้ที่เป็นตัวแบบ โดยองค์ประกอบสำคัญของตัวแบบที่มีอิทธิพลต่อความใส่ใจของผู้เรียน เช่น ความสามารถ บุคลิกลักษณะ การใช้อำนาจ ฯลฯ ในขณะเดียวกันคุณลักษณะของผู้เรียนก็มีความสัมพันธ์กับกระบวนการใส่ใจ เช่น วัย ความสามารถทางสติปัญญา ทักษะทางกาย รวมทั้งตัวแปรทางบุคลิกภาพ เช่น การเห็นคุณค่าของตนเอง ความต้องการ และทัศนคติ เป็นต้น
            2) กระบวนการจดจำ (Retention process) ผู้เรียนสามารถเลียนแบบได้เพราะผู้เรียนบันทึกสิ่งที่สังเกตจากตัวแบบไว้ในความจำระยะยาว ผู้เรียนที่สังเกตแล้วสามารถระลึกถึงสิ่งที่สังเกตเป็นภาพพจน์ในใจ (Visual imagery) หรือ สามารถเข้ารหัสด้วยคำพูดหรือถ้อยคำ (Verbal coding) สามารถแสดงพฤติกรรมเลียนแบบจากตัวแบบได้แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานๆ และถ้าผู้เรียนมีโอกาสได้เห็นตัวแบบแสดงสิ่งที่ต้องเรียนรู้ซ้ำ จะช่วยให้จำได้ดียิ่งขึ้น
            3) กระบวนการแสดงพฤติกรรมเหมือนกับตัวแบบ (Reproduction process) เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนแปรสภาพ (Transform) ภาพพจน์ในใจ หรือสิ่งที่จำไว้เป็นการเข้ารหัสเป็นถ้อยคำ แล้วแสดงออกมาเป็นการกระทำ หรือแสดงพฤติกรรมเหมือนกับตัวแบบ ปัจจัยสำคัญของกระบวนการนี้ คือ ความพร้อมด้านร่างกาย และทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการเลียนแบบของผู้เรียน ถ้าผู้เรียนไม่มีความพร้อมจะไม่สามารถแสดงพฤติกรรมเลียนแบบได้
       
        การเรียนรู้ด้วยการสังเกตหรือเลียนแบบไม่ใช่เป็นการลอกแบบอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นกระบวนการทางพุทธิปัญญาและความพร้อมทางร่างกายของผู้เรียน การแสดงพฤติกรรมเหมือนตัวแบบของแต่ละบุคคลจึงแตกต่างกันไป ผู้เรียนบางคนอาจทำได้ดีกว่าตัวแบบ บางคนอาจเลียนแบบได้เหมือนมาก บางคนอาจทำได้เพียงคล้ายคลึงกับตัวแบบ บางคนบางส่วนเหมือนบางส่วนไม่เหมือนตัวแบบ และบางคนจะไม่สามารถแสดงพฤติกรรมเหมือนตัวแบบ

4) กระบวนการจูงใจ (Motivation process) แรงจูงใจของผู้เรียนที่จะแสดงพฤติกรรมเหมือนตัวแบบ เนื่องจากมีความคาดหวังว่าการเลียนแบบจะนำประโยชน์มาให้ หรือจะทำให้สามารถหลีกหนีปัญหาได้ ในห้องเรียนเวลาที่ครูให้รางวัลหรือลงโทษนักเรียนคนใดคนหนึ่ง นักเรียนทั้งห้องจะเรียนรู้ด้วยการสังเกตและเป็นแรงจูงใจให้แสดงหรือไม่แสดงพฤติกรรม
ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมเชิงพุทธิปัญญาของแบนดูราชี้ให้เห็นว่าคุณลักษณะของตัวแบบมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก เด็กเลียนแบบพฤติกรรมและทัศนคติส่วนใหญ่จากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ และครู ดังนั้น ครูที่ต้องการสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัยจำเป็นต้องมีบทบาทในด้านการเป็นแบบอย่าง ดังต่อไปนี้

        1.1 การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างของพฤติกรรมที่ต้องการให้เด็กปฏิบัติ ครูควรตระหนักว่าพฤติกรรมทางกายและวาจาของครูเป็นแบบอย่างแก่เด็ก สิ่งที่ครูกระทำสำคัญกว่าสิ่งที่ครูพูดสอน ถ้าห้องเรียนใดครูชอบตะโกน ห้องเรียนนั้นก็มีแนวโน้มที่จะมีเสียงอึกทึก ห้องเรียนที่ครูสงบ ห้องเรียนนั้นมักจะสงบ หากครูแสดงให้เด็กเห็นว่าครูให้เกียรติเด็กและคนอื่นๆ เด็กจะให้เกียรติผู้อื่น
        ห้องเรียนที่ต้องการสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็ก ครูควรเป็นแบบอย่างของความนุ่มนวล ความเห็นใจ ความเข้าใจ การบริการ ความรัก การแบ่งปัน การเอาใจใส่ เพื่อให้เด็กเรียนรู้จากครูซึ่งเป็นแบบอย่างด้วยความรัก (ฝ่ายการศึกษาในโรงเรียนของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, ม.ป.ป.: 274) นอกจากนี้ ครูต้องมั่นใจว่าตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กตลอดเวลาที่อยู่กับเด็ก เช่น แต่งกายเหมาะสม จัดของใช้ส่วนตัวเป็นระเบียบเรียบร้อย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ขอบคุณเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากเด็ก ขอโทษเมื่อรู้ว่าตนทำผิดต่อเด็ก พูดกับเด็กด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล พูดจาสุภาพ ใช้ระดับเสียงที่ดังพอดีได้ยิน พูดถึงผู้อื่นในด้านดี เป็นต้น
        ครูทุกคนจึงควรถามตนเองว่า "ทัศนคติและพฤติกรรมใดที่ฉันควรเป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก" (Leatzow et al., 2542: 110) เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าครูควรจะปฏิบัติอย่างไรขณะที่อยู่กับเด็ก

        1.2 การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างด้านการควบคุมอารมณ์ของตนเอง การควบคุมอารมณ์ของครูถือเป็นส่วนหนึ่งของแบบอย่างที่สำคัญ การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็ก ครูควรระมัดระวังไม่ให้อารมณ์และความรู้สึกของตนเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหากับเด็ก (Gordon and Browne, 1995: 212)
        ขณะที่เด็กเรียนรู้ที่จะพัฒนาความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ครูจำเป็นต้องมีความรู้สึกว่าตนสามารถควบคุมตนเองได้เช่นกัน เพราะเมื่อใดก็ตามที่ครูมีความรู้สึกว่าสามารถควบคุมตนเองได้อย่างสมบูรณ์ ครูจะสามารถทำงานภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ได้ ครูจึงควรมีสติ รู้ตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับหรือพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
        การที่ครูไม่เข้าใจตนเอง และไม่สามารถควบคุมตนเองจะนำไปสู่การสอนและการเป็นแบบอย่างในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การที่ครูไม่อดทนต่อพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของเด็ก จึงเกิดความรู้สึกโมโห และลงโทษเด็กโดยขาดสติ ซึ่งอาจเป็นการพูดบ่น ใช้เสียงเกรี้ยวกราด หรือตีเด็ก ล้วนเป็นแบบอย่างในเรื่องการไม่ควบคุมอารมณ์ และการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับปัญหาให้แก่เด็ก ทั้งเด็กที่ถูกลงโทษ และเด็กอื่นๆ ในห้องที่เฝ้าสังเกตเหตุการณ์ (Hendrick, 1996: 291; Gordon and Browne, 1996: 14) อย่างไรก็ตามครูก็เป็นมนุษย์ที่โกรธเป็น หงุดหงิดและอารมณ์เสียเป็น เมื่อใดก็ตามที่ครูกำลังเริ่มหมดความอดทนและมีโทสะกับเด็กครูจะควบคุมตนเองน้อยลง และเริ่มมีอารมณ์กับเด็กมากขึ้นตามลำดับ นวลศิริ เปาโรหิตย์ (ม.ป.ป.: 151-153) ได้แนะนำให้ใช้เทคนิคการพูดกับตนเองซึ่งเป็นการสอนหรือเตือนสติตนเองในการรับมือกับอารมณ์โกรธไว้ดังนี้

(1) เตรียมพร้อมต่อการยั่วยุ ครูอาจเตือนตัวเองด้วยคำพูด เช่น คราวนี้ฉันจะมีสติ ฉันจะรู้ตัวว่าจะทำอย่างไร ฉันจะนับ 1-10 ระวังคำพูดและการกระทำของตนเอง ฉันจะมองให้เป็นเรื่องขบขันเสีย ฉันจะหายใจลึกๆ ไม่ผลีผลามหรือด่วนทำอะไรลงไป

(2) เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเด็กที่ทำให้ครูหมดความอดทน ครูอาจเตือนตัวเองด้วยคำพูด เช่น ใจเย็นๆ เข้าไว้ ฉันควบคุมสถานการณ์ได้ เรื่องอะไรต้องมาหงุดหงิดกับเรื่องเช่นนี้ ฉันจะไม่ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าทุกอย่างเลวร้าย ฉันจะไม่ต่อล้อต่อเถียงกับเด็ก ไม่เห็นมีอะไรที่ฉันต้องเคียดแค้นถึงเพียงนี้เลย ฉันโตกว่าเขาตั้งเยอะ

(3) เมื่อกำลังถูกยั่วยุให้โกรธ ครูอาจเตือนตัวเองด้วยคำพูด เช่น เรื่องอะไรฉันต้องเป็นเช่นนี้ ความโกรธเป็นการทำลายตนเอง ไม่มีใครทุกข์กับเรา เราทำตัวของเราเอง หายใจลึกๆ เด็กรู้ว่าถ้าทำเช่นนี้ฉันจะโกรธเขา ถ้าฉันโกรธเขาต้องดีใจว่าทำให้ฉันเป็นไปตามที่เขาต้องการ ฉันไม่มีทางโกรธตอบ

(4) เมื่อความขัดแย้งผ่านไป หากแก้ไขไม่สำเร็จครูอาจบอกตนเองว่า ลืมเสียให้หมด เรื่องอะไรต้องไปคิดในสิ่งที่ทำให้เราโมโห คราวหน้าฉันจะทำให้ดีกว่านี้ ไม่เห็นเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสักหน่อย อย่าคิดมาก หากแก้ไขได้สำเร็จครูอาจบอกตนเองว่า เห็นไหมมันไม่ยากสักหน่อย ฉันผ่านพ้นเรื่องนี้ได้โดยไม่โกรธ ดีจริงๆ แสดงว่าฉันมีสติดีขึ้น

        ทั้งนี้ ครูควรระลึกอยู่เสมอว่าตนเป็นแบบอย่างของการควบคุมอารมณ์ และควรเรียนรู้ที่จะจัดการความโกรธของตน ฝึกแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับอารมณ์ของตนในทางที่สร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถสงบอารมณ์ของตนเองก่อนที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาของเด็ก และสนุกกับการอยู่ร่วมกับเด็กแม้ว่าตนเองกำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ ก็ตาม