Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

2. การจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อการสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็ก
        ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่เด็กสามารถเรียนรู้ทักษะและพฤติกรรมทางสังคมที่นำไปสู่การมีวินัยในตนเอง ได้แก่ การพึ่งตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง การเห็นใจ เข้าใจ ร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น การควบคุมอารมณ์ การปฏิบัติตามมารยาทสังคม และการมีพฤติกรรมแบบร่วมมือ (Gordon and Browne, 1996: 214-216) ครูควรจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อการสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็ก ดังนี้

        2.1 การจัดประสบการณ์เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง การพึ่งตนเองของเด็กเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ที่จะมีวินัยในตนเอง ตามทฤษฎีของอีริคสัน (Leatzow et al., 2542: 26-27) กล่าวถึงความสัมพันธ์ของการพึ่งตนเองกับการมีวินัยในตนเองของเด็ก ไว้ว่าเด็กที่สามารถทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองจะรู้สึกว่าตนมีความสามารถ และเป็นคนที่ควบคุมตนเองได้ในที่สุด ส่วนเด็กที่รู้สึกว่าตนไม่ประสบความสำเร็จ ทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้อยู่เสมอ จะรู้สึกว่าตนอ่อนแอ พึ่งตนเองไม่ได้ และเกิดความสงสัยว่าตนจะทำอะไรตามลำพังได้หรือไม่ ลักษณะเช่นนี้ทำให้เด็กอยู่ในตำแหน่งของความสงสัยในตนเอง และไม่สามารถควบคุมตนเองได้

        ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง Leatzow และคณะ (2542: 25) แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ผู้ใหญ่เปรียบเสมือน "ผู้ให้ใบอนุญาต" ให้เด็กพัฒนาการพึ่งตนเอง ถ้าปราศจากความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เด็กคงเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเองไม่ได้ เด็กควรได้ฝึกช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน เช่น การหยิบและเก็บของเล่นหรือของใช้ส่วนตัว การรับประทานอาหาร การใช้ห้องน้ำห้องส้วม การแต่งตัว การปูที่นอน อย่างไรก็ตามครูควรพิจารณาว่าสิ่งที่ฝึกให้เด็กช่วยเหลือตนเองนั้นต้องเหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก

        นอกจากนี้ ครูยังมีหน้าที่ทำให้เด็กเข้าใจว่าเด็กมีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตนเองด้วย เนื่องจาก เป้าหมายหนึ่งที่สำคัญในการศึกษาปฐมวัย คือ การพยายามให้เด็กตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยตนเอง (Gartrell, 1994: 73; Leatzow et al., 2542: 187) เมื่อเด็กเผชิญกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากต่างๆ เด็กต้องการให้ครูเข้าใจเขา ท่าทีอันสุขุมของครูที่ตอบสนองคำพูดหรือความรู้สึกของเด็ก และช่วยสะท้อนให้เด็กเข้าใจสถานการณ์ที่เผชิญอยู่เป็นการสนับสนุนให้เด็กสามารถหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเองต่อไป เด็กอาจต้องการความช่วยเหลือของครูในการ
1) ทำให้ความยุ่งยากที่เขาเผชิญอยู่ชัดเจนขึ้นว่าปัญหาที่แท้จริงเป็นอย่างไร 2) กระตุ้นให้เด็กคิดหาวิธีที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหา 3) ร่วมกันเลือกวิธีแก้ไขปัญหา และ 4) สนับสนุนให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตนเองตามวิธีที่เลือกไว้ บางครั้งเด็กจะตกลงยอมรับวิธีแก้ปัญหาโดยไม่เข้าใจว่าต้องนำไปปฏิบัติอย่างไร ครูควรแสดงวิธีแก้ปัญหาร่วมกับเด็ก ครูอาจนำประสบการณ์การแก้ปัญหามาพูดคุยกับเด็กให้ภายหลังเพื่อให้เด็กมองเห็นความสำเร็จและความสามารถของตนซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
        เด็กที่มีโอกาสคิดด้วยตนเอง พึ่งตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเองย่อมมีความรู้สึกต่อตนเองในทางที่ดี ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นด้วย เด็กจะเป็นตัวของตัวเอง และมีวินัยในตนเอง

        2.2 การจัดประสบการณ์เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ช่วยให้คนเรามีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าแสดงออกปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม และสามารถเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความรู้สึกที่มั่นคง เด็กที่เชื่อมั่นในตนเองจะรู้จักตนเอง และมีวินัยในตนเอง
       
        ครูเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองให้แก่เด็ก ปฏิสัมพันธ์ของครูต่อเด็กที่เหมาะสมทั้งทางวาจา สีหน้า ท่าทาง ในขณะจัดกิจกรรม และอยู่ร่วมกับเด็กมีผลต่อความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กทั้งสิ้น ปฏิสัมพันธ์ทางบวกของครู เช่น การพูดให้กำลังใจ การแสดงความชื่นชม การยอมรับความคิดเห็น ช่วยให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก รู้ผลการกระทำของตนที่มีต่อผู้อื่น และมีความสุขในการเรียนรู้ ในทางตรงกันข้ามปฏิสัมพันธ์ทางลบ เช่น การเปรียบเทียบและตำหนิติเตียน การบังคับเด็กมากเกินไป หรือแม้แต่การออกคำสั่งตลอดเวลา ทำให้เด็กสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง ครูจึงควรปล่อยให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง ได้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างเสรี เลือกงานในห้องด้วยตนเอง โดยมีครูช่วยแนะนำให้เด็กเลือกและทำเอง ทั้งนี้ ครูควรช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จเมื่อเด็กต้องทำงานยากๆ ด้วยการแบ่งงานเป็นขั้นย่อยๆ ที่เด็กสามารถจะทำได้ (Gordon and Browne, 1995: 214) การช่วยเหลือเด็กด้วยความรักจะทำให้เด็กกลายเป็นคนรับผิดชอบการกระทำของตนเอง ส่งเสริมการเป็นตัวของตัวเอง และการนับถือตนเอง พร้อมกับช่วยให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำดี

        การใช้คำพูดอย่างสร้างสรรค์ของครูช่วยให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ และมีวินัยในตนเอง กล่าวคือ ครูควรลดคำพูดประเภทคำสั่ง เด็กที่เคยชินกับการรับคำสั่งจะไม่มั่นใจและไม่แน่ใจ เด็กจะขาดโอกาสในการคิด ตัดสินใจ ครูอาจใช้คำถามเพื่อให้เด็กได้สังเกต เปรียบเทียบ และริเริ่มด้วยตนเองโดยไม่ควรชี้แนะหรือช่วยเหลือตลอดเวลา เมื่อต้องการให้เด็กร่วมกิจกรรมครูควรพูดจูงใจและชักชวนเด็กด้วยเหตุผล เพื่อให้เด็กร่วมกิจกรรมโดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ และไม่เกิดความกังวลเมื่อปฏิบัติตามไม่ได้ อีกทั้งยังควรแสดงความชื่นชมกับการกระทำของเด็กที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยให้เด็กรู้เหตุผลและคุณค่าของการกระทำนั้นด้วย เนื่องจากความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กจะเกิดขึ้นได้เมื่อเด็กตระหนักว่าตนเองมีคุณค่า และเป็นที่รัก (กรมวิชาการ, 2537: 1-16; ฝ่ายการศึกษาในโรงเรียนของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, ม.ป.ป.: 273; Brewer, 2004: 176)

        2.3 การจัดประสบการณ์เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น การร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) เป็นการตอบสนองต่อความรู้สึกซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ของผู้อื่นมากกว่าสถานการณ์ของตน (Hoffman, 1982: 281) ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ทางศีลธรรม (Gootman, 2001: 74) เด็กอายุ 2-3 ปีสามารถแยกการรับรู้ระหว่างตนเองกับผู้อื่น และเมื่ออายุ 3-4 ปีสามารถรับรู้และตอบสนองต่อความสุข ความทุกข์ของผู้อื่น ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่มีการพัฒนาด้านภาษาอย่างรวดเร็วทำให้เด็กเริ่มรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้นแม้กระทั่งอารมณ์ที่มีความซับซ้อน เช่น ผิดหวัง (Hoffman, 1982: 288)

        การสอนให้เด็กร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นนั้น ครูต้องช่วยให้เด็กรู้จักคำพูดเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึก โดยเริ่มต้นจากอารมณ์และความรู้สึกของตน แล้วจึงสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น โดยการสอนเรื่องนี้อาจบูรณาการเข้าไปในการเรียนการสอน เช่น หลังจากอ่านหนังสือให้เด็กฟังแล้วอภิปรายร่วมกันเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวละคร
        ท่องกลอนที่เกี่ยวกับอารมณ์หรือความรู้สึก ให้เด็กสังเกตปฏิกิริยาของผู้อื่นที่แสดงอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ให้เด็กทำหน้ากากซึ่งแสดงอารมณ์ที่ต่างกัน เล่นละครสร้างสรรค์ หรือแสดงบทบาทสมมุติ เป็นต้น (Gootman, 2001: 71-72)
สิ่งที่จำเป็นต้องสอนให้เด็กเข้าใจในเรื่องนี้ คือ การคิดถึงใจเขาใจเรา โดยกระตุ้นให้เริ่มนึกถึงจิตใจของผู้อื่น เช่น เมื่อเด็กไปดึงผมเพื่อน เพื่อนจะเจ็บ เมื่อแย่งของเล่นเพื่อน เพื่อนจะเสียใจ (นวลศิริ เปาโรหิตย์, ม.ป.ป.: 146) ในกรณีที่เด็กทำร้ายผู้อื่นเช่นนี้ ครูอาจให้เด็กลองนึกว่าถ้าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำบ้างจะรู้สึกอย่างไร การถามคำถามเช่นนี้เป็นการกระตุ้นให้เด็กนึกถึงจิตใจของผู้อื่น (Hoffman, 1982: 306)
วิธีการอื่นๆ ที่สอนให้เด็กร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น ได้แก่ การกระตุ้นให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่ดีกับเพื่อน เช่น ขอให้เด็กแบ่งดินสอสีให้เพื่อน ช่วยเพื่อนต่อรูป หรือแม้แต่สอนให้เด็กรู้จักขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น ขอให้เพื่อนมาช่วยยกของ ด้วยวิธีการเช่นนี้เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าการที่คนเราอยู่ร่วมกันในสังคมได้นั้นต้องมีทั้งการให้และการรับ ไม่ใช่รับฝ่ายเดียว ครูควรสอนเด็กให้เมตตา และเผื่อแผ่ผู้อื่นในเวลาเดียวกัน (นวลศิริ เปาโรหิตย์, ม.ป.ป.: 147) ทั้งนี้การที่เด็กได้รับความรัก ได้รับการปฏิบัติด้วยความอ่อนโยน และมีประสบการณ์ที่ดี โดยไม่มีการลงโทษ ทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องการร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ (Hoffman, 1982: 306)

        2.4 การจัดประสบการณ์เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม อารมณ์เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทุกประสบการณ์ของมนุษย์ ผู้ใหญ่จำนวนมากต้องใช้ความพยายามในการระงับอารมณ์ของตนเอง การช่วยให้เด็กซึ่งมีประสบการณ์ที่จำกัดแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ที่จะรับมือหรือจัดการกับอารมณ์ของตน
        กิจกรรมจากการวิจัยของ Browning, Davis และ Resta (2000: 233-234) ซึ่งใช้เพื่อสอนให้เด็กแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม ได้แก่ กิจกรรมวงล้อแห่งทางเลือก (Wheel of choice) โดยครูจัดให้มีการอภิปรายร่วมกับเด็กเพื่อคิดหาวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมเมื่อเด็กเกิดความคับข้องใจ หงุดหงิด หรือถูกทำให้โกรธ หลังจากนั้นครูได้แนะนำวงล้อแห่งทางเลือกซึ่งประกอบไปด้วยการขอโทษ การบอกให้คู่กรณีหยุด การเดินไปที่อื่น และการพูดสะท้อนความรู้สึกของตนเอง แล้วแนะนำให้เด็กลองปฏิบัติโดยใช้บทบาทสมมติ ผลการวิจัยพบว่าพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมลดลง เด็กมีทักษะการแก้ปัญหาสูงขึ้น และข้อสังเกตจากการวิจัยชี้ให้เห็นว่าครูจะต้องช่วยด้วยการเตือนเป็นระยะๆ
ตัวอย่างวิธีการอื่นๆ ที่ครูสามารถใช้ในการช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม (Dinkmeyer et al., 1989: 129-140) เช่น
(1) ฟังสิ่งที่เด็กพูดและสะท้อนความรู้สึกของเด็กให้เด็กได้รับรู้ เช่น "ดูเหมือนหนูจะไม่ค่อยมีความสุข" "หนูไม่ค่อยพอใจใช่ไหมจ๊ะ"
(2) ยอมรับความรู้สึกของเด็กและทำให้เด็กรู้ว่าครูรับรู้และเข้าใจ เช่น "ครูก็ได้ยินเสียงฟ้าร้อง เสียงมันน่ากลัวใช่ไหมจ๊ะ"
(3) เล่นร่วมกับเด็ก เพราะการเล่นจะทำให้มีโอกาสพูดถึงความรู้สึกได้มากขึ้น การใช้ตุ๊กตาหรือหุ่นมือในการเล่นสมมุติกับเด็กช่วยให้ครูเข้าใจความรู้สึกของเด็กได้ง่ายขึ้น
(4) ช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่าคนเราอาจมีความรู้สึก 2 อย่างได้ในเวลาเดียวกัน เด็กอาจรู้สึกรักและโกรธใครบางคนได้ในเวลาเดียวกัน เช่น "จริงๆ หนูก็ชอบเล่นกับแก้วแต่ไม่ชอบตอนที่แก้วทำหน้าทะเล้นใช่ไหมจ๊ะ"
(5) แสดงให้เด็กรู้ว่าครูเข้าใจความรู้สึกของเด็ก แต่การกระทำของเด็กต้องมีขอบเขตจำกัด เช่น "ครูรู้ว่าหนูโกรธที่พลอยทำบล็อกที่หนูต่อล้ม แต่หนูไปตีพลอยไม่ได้นะจ๊ะ มาเถอะมาต่อใหม่ดีกว่า"

        ความโกรธเป็นสภาพอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เด็ก เด็กแต่ละคนจะแสดงความโกรธออกมาต่างกัน เช่น ส่งเสียงดัง ขว้างปา ทุบสิ่งของ หรือตีคนอื่น โดยธรรมชาติเด็กจะรู้จักการแสดงออกทางอารมณ์ได้ดีขึ้นเมื่อโตขึ้น จะเริ่มรอคอยเป็น พูดเพราะขึ้น มีการให้ผู้อื่นได้มากขึ้น ไม่มีครูคนไหนจะมาคอยควบคุม ดูแลความประพฤติ ของเด็กได้ตลอดเวลา ครูทุกคนล้วนหวังให้สิ่งที่เราอบรมสั่งสอนเข้าไปปลูกฝังอยู่ในจิตใจของเด็ก จนกลายเป็นจิตสำนึกของตัวเด็กไปในที่สุด สิ่งที่สำคัญคือครูต้องตระหนักว่าสิ่งที่ครูอบรมสั่งสอนไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยระยะเวลา ความอดทนของครูเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเมื่ออยู่กับเด็ก เด็กจะซึมซับสิ่งที่ได้รับการอบรมสั่งสอน และนำแบบอย่างของครูที่ตนรักมาเป็นส่วนหนึ่งของจิตใจของเด็ก ในที่สุดเด็กจะเติบโตเป็นผู้ที่มีเหตุผล มีความอดทน อดกลั้น รู้จักควบคุมตนเอง และรู้จักการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม

        2.5 การจัดประสบการณ์เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามมารยาทสังคม มารยาทเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตร่วมกันในสังคม การสอนให้เด็กรู้จักประพฤติตามมารยาทสังคมเป็นเครื่องแสดงถึงน้ำใจไมตรีและการเอื้ออาทรต่อบุคคลรอบข้าง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีงามที่ควรปลูกฝัง การสอนมารยาทให้แก่เด็กไม่สามารถคอยให้เด็กโตแล้วจึงสอน เพราะเด็กเรียนรู้เรื่องมารยาทจากชีวิตประจำวัน (นวลศิริ เปาโรหิตย์, ม.ป.ป.: 34-35)
มารยาทที่ควรสอนให้แก่เด็ก เช่น การไหว้และกล่าวสวัสดีเมื่อพบผู้ใหญ่ การพูดขอบคุณเมื่อมีคนช่วยเหลือหรือให้ของ การขอโทษเมื่อทำผิดพลาดหรือทำให้ผู้อื่นเสียใจ การช่วยเหลือผู้อื่น การพูดด้วยคำพูดที่สุภาพ การเคี้ยวอาหารเบาๆ ปิดปากเวลาเคี้ยว และไม่พูดคุยเมื่อมีอาหารในปาก การไม่ใช้ของส่วนตัวของผู้อื่น เดินก้มหลังเมื่อผ่านผู้ใหญ่ การไม่ยืนค้ำศีรษะหรือเล่นศีรษะของผู้ใหญ่ การบอกให้เด็กรู้ว่าสถานการณ์ใดควรแสดงออกอย่างไรจึงจะเหมาะสมโดยอธิบายเหตุผลให้เด็กฟังด้วยจึงเป็นวิธีหนึ่งของการสอนมารยาททางสังคมอย่างได้ผล ครูสามารถสอนมารยาทควบคู่ไปกับการที่เด็กต้องปฏิบัติตามมารยาทนั้นๆ เช่น เมื่อส่งของให้เด็ก อาจพูดว่า "ขอบคุณคุณครูก่อนค่ะ อย่ารับไปเฉยๆ" หรือขณะที่รับประทานอาหารร่วมกัน ครูอาจบอกเด็กที่คุยเมื่ออาหารอยู่ในปากว่า "เคี้ยวให้เสร็จก่อนค่ะ แล้วค่อยพูด เดี๋ยวข้าวติดคอ" หรือ "เคี้ยวข้าวช้าๆ ให้ละเอียดนะคะ" เป็นต้น
วิธีที่ดีที่สุดในการอบรมสั่งสอนมารยาทสังคม คือ การที่ครูเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก ครูที่ปฏิบัติต่อเด็กด้วยความอ่อนโยน เข้าใจ นุ่มนวล และมีมารยาททางสังคมที่เหมาะสม ประกอบกับการอบรมสั่งสอนของครู เด็กจะปฏิบัติตามมารยาทสังคมได้โดยครูไม่ต้องเหนื่อยยากเลย

        2.6 การจัดประสบการณ์เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะมีพฤติกรรมแบบร่วมมือ ตามทฤษฎีของอีริคสัน (Leatzow et al., 2542: 29-31) กล่าวถึงภาระที่ท้าทายของเด็กวัย 3-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของการริเริ่มและความละอายไว้ว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กต้องสร้างความสมดุลระหว่างการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางกับความต้องการที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม เด็กวัยนี้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีและต้องการคำแนะนำจากผู้ใหญ่ การเล่นของเด็กวัยนี้เป็นการเล่นกับกลุ่มเพื่อนซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้ว่าเป้าหมายของเขาอาจไม่ตรงกับเป้าหมายหรือแผนการของคนอื่น หากเด็กประสบความสำเร็จในการติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน เด็กจะภาคภูมิใจในความสามารถของตน ถ้ารับประสบการณ์ในทางตรงกันข้ามจะพัฒนาไปสู่ความรู้สึกผิดและละอายที่จะทำสิ่งต่างๆ
        ความสามารถในการเข้ากับผู้อื่นเป็นทักษะทางสังคมที่เด็กต้องพัฒนาเพื่อให้ประสบความสำเร็จและพึงพอใจกับชีวิต ทักษะสำคัญที่ครูควรฝึกให้แก่เด็กมีดังต่อไปนี้

(1) การแสดงความคิดและความรู้สึกของตนต่อผู้อื่น เด็กที่มีปัญหาการเข้ากับคนอื่นมักขาดทักษะการพูดสื่อสาร เพราะเด็กมักรู้แค่เพียงความต้องการของตนที่มีต่อคนอื่น ทำให้เด็กถูกปฏิเสธจากกลุ่มเพื่อน ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเล่นกับเพื่อนอย่างไม่เหมาะสม เห็นได้จากเวลาที่เด็กต้องการเล่นกับเพื่อนแต่ไม่รู้จักวิธีพูด เด็กที่มีทักษะทางสังคมจะค่อยๆ เข้าไปสร้างความคุ้นเคยและเริ่มพูดว่า "น่าสนุกนะ" "เล่นยังไง" "ขอเล่นด้วยคน" แต่เด็กที่ขาดทักษะจะเข้าไปขัดจังหวะ หรือพูดในทำนองที่ว่า "แบบนี้ฉันก็มี" "ฉันเล่นดีกว่าเธออีก" "ฉันอยากจะเล่น ให้เล่นหน่อยสิ" ซึ่งทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม ครูควรสังเกตทักษะด้านนี้ของเด็ก แล้วช่วยเหลือให้คำแนะนำกับเด็ก เป็นรายบุคคล ด้วยการพูดคุย เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้คำพูดสื่อสาร ควรหาช่วงเวลาในการพูดคุยกับเด็กเป็นรายบุคคล การพูดคุยที่ดีควรมีความเป็นกันเอง แลกเปลี่ยนความเห็นและความรู้สึกได้ แบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึก เล่าถึงปัญหาและวิธีการแก้ปัญหา หรือเล่าความใฝ่ฝันของแต่ละคน (อุสา สุทธิสาคร, 2544: 68-71)

(2) การฟังและเข้าใจผู้อื่น เด็กที่ขาดทักษะการฟังมักจะมีปัญหาในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น เนื่องจากการไม่ตั้งใจฟังทำให้ไม่รู้ว่าผู้อื่นคิดอย่างไร หรือหมายความว่าอย่างไร และมักจะทำให้มีความคิดต่อผู้อื่นไม่ตรงตามความเป็นจริง ครูควรสอนให้เด็กรู้จักฟังอย่างตั้งใจ รู้จักสังเกตภาษากายของคู่สนทนาด้วย ตัวอย่างกิจกรรมที่ฝึกทักษะการฟัง เช่น การใช้เกมการฟัง เช่น โทรศัพท์ เกมกระซิบข้อความ การจัดช่วงเวลาสำหรับการเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง การนำสิ่งของมาแสดงและเล่าเรื่อง (Show and tell) การนำเสนอผลงานของเด็ก การเล่นสมมติ หรือการเล่นละครสร้างสรรค์ เป็นต้น (Gootman, 2001:77-78)

(3) การประนีประนอมและเจรจาตกลง เป็นทักษะที่จำเป็น
อย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างเด็ก ตัวอย่างกิจกรรมที่ใช้สอนทักษะนี้ในโรงเรียนอนุบาล เช่น กิจกรรมเก้าอี้ของการพูดและฟัง (Talk and listen chairs) ซึ่งใช้เมื่อเด็กเกิดการโต้เถียงกัน ครูจะให้เด็กผลัดกันใช้เก้าอี้สำหรับพูด และเก้าอี้สำหรับฟัง เพื่อฝึกทักษะการประนีประนอม และทักษะการเจรจาตกลงให้แก่เด็ก (Gartrell, 1994: 74)

(4) ความร่วมมือและการทำงานในฐานะสมาชิกของกลุ่ม ครูควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ เช่น การทำกิจกรรมตามโครงการร่วมกัน การทำงานศิลปะแบบร่วมมือ โดยเริ่มต้นจากการมอบหมายให้เด็กทำงานเป็นคู่ก่อน แล้วจึงค่อยฝึกการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ การให้เด็กเล่นร่วมกับเพื่อนก็เป็นสื่อที่จะทำให้เด็กรู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบ และส่งเสริมพฤติกรรมแบบร่วมมือเช่นกัน (Gootman, 2001:79) นอกจากนี้ครูควรมอบหมายให้เด็กช่วยทำงานต่างๆ ในห้องเรียนด้วย การทำงานจะช่วยให้เด็กรู้จักมีส่วนร่วม และรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียน และเป็นการแนะนำให้เด็กรู้จักโลกของการทำงานจริงๆ ด้วย สิ่งที่มอบหมายให้เด็กช่วย เช่น การจัดอุปกรณ์ศิลปะ การทำความสะอาดห้องเรียน การตักอาหาร การให้อาหารปลา การรดน้ำต้นไม้ การจัดของเล่นของใช้ให้เรียบร้อย การมอบหมายให้เด็กทำงานนี้ควรให้เด็กมีโอกาสเลือกเอง ทำให้เด็กรู้สึกสนุกที่จะทำ ครูไม่ควรควบคุมการงานของเด็กมากเกินไป ควรปล่อยให้เด็กคิดเองบ้างในรายละเอียด ไม่หวังผลสูงเกินไป และไม่ควรใช้การมอบหมายให้ทำงานเป็นการลงโทษเด็ก (วัชรี ธุวธรรม, 2528: 154-156)