Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

        วินัยนั้นเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สังคมมนุษย์จำเป็นต้องมีวินัยเพื่อทำให้เกิดระบบระเบียบ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิตและสังคม
        เมื่อกล่าวถึงคำว่า "วินัย" มักเข้าใจกันในทางลบว่าเป็นเครื่องบังคับควบคุม เป็นคำสั่ง เป็นระเบียบ จึงเป็นที่น่าเสียดายที่คนจำนวนมากคิดถึงวินัยในความหมายที่ควบคู่ไปกับการลงโทษ ดังจะเห็นได้จากการวิจัยของ Garvey (1999) ซึ่งได้ศึกษาว่าพ่อแม่ปลูกฝังวินัยให้แก่เด็กจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างไร จากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำจำนวน 16 ครอบครัว พบว่า พ่อแม่ทุกครอบครัวคิดถึงคำว่าวินัยควบคู่ไปกับการลงโทษ เนื่องจากมีประสบการณ์เรื่องวินัยจากการลงโทษ และพ่อแม่ยังคงใช้การลงโทษในการสอนให้ลูกมีวินัย ในบางครอบครัวพ่อแม่พยายามหลีกเลี่ยงการลงโทษแบบที่พ่อแม่เองจำฝังใจ โดยเปลี่ยนเป็นการลงโทษแบบอื่นแทน มี 2 ครอบครัว เท่านั้นที่ระลึกได้ว่าตนเองเคยได้รับการปลูกฝังวินัยด้วยคำชื่นชมที่ทำให้ตนประสบความสำเร็จในการเรียน       
        แท้จริงแล้วคำว่า "วินัย" เป็นคำที่มีความหมายธรรมดา มีการเชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิต ดังที่วีระ สมบูรณ์ (2543: 36-37) ได้ให้ความหมายว่า วินัยเป็นวิถีที่เหมาะสมหรือยุติธรรม ซึ่งหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย หัวใจของการดำเนินชีวิตที่สมดุลและเป็นสุขในโลกสมัยใหม่ คือ วินัยที่เต็มไปด้วยความเรียบง่าย โดยอาจกล่าวได้ว่าวินัย คือ วัฒนธรรมก็ได้
        พระธรรมปิฎก (2538: 12-13) กล่าวว่า วินัยเป็นบัญญัติของมนุษย์ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามสมมติ เป็นการจัดระเบียบความเป็นอยู่และการจัดระบบสังคมซึ่งแยกเป็นความหมาย 3 อย่าง คือ 1) การจัดระเบียบระบบ ก็เรียกว่าวินัย 2) ตัวระเบียบระบบ หรือตัวกฎนั้นก็เรียกว่าวินัย 3) การฝึกคนให้ตั้งอยู่ในระบบระเบียบ ก็เรียกว่าวินัย
        วินัยที่ถูกต้องจะต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงในธรรมชาติ และมีความมุ่งหมายเพื่อ "ธรรม"อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ความชอบธรรม ความเป็นธรรม ความดีงามของสังคม ทั้งนี้ พระธรรมปิฎก (2538: 8-12) ได้นำเสนอไว้ว่า วินัยที่แท้ในความหมายที่กว้าง คือ ระบบระเบียบทั้งหมดของชีวิต และสังคมมนุษย์ เป็นการจัดสรรโอกาสทำให้ชีวิตและสังคมมีระบบระเบียบ และมีโอกาสเกิดขึ้น ทำให้ทำอะไรๆ ได้คล่อง ดำเนินชีวิตได้สะดวก ถ้าชีวิตและสังคมไม่มีระเบียบ ไม่เป็นระบบ ก็จะสูญเสียโอกาสในการที่จะดำเนินชีวิตและทำกิจการของสังคมให้เป็นไปด้วยดี ตลอดจนทำให้การพัฒนาได้ผลดี ดังนั้น การพัฒนามนุษย์ในระยะยาวจึงต้องมีวินัยเป็นฐาน เพื่อให้มนุษย์สามารถนำศักยภาพของตนออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคมอย่างได้ผล ถ้าชีวิตและสังคมขาดวินัยย่อมทำให้เกิดความวุ่นวายต่างๆ ในที่สุดก็จะสูญเสียโอกาสในการที่จะดำเนินชีวิต และทำกิจการของสังคมให้เป็นไปด้วยดี
วินัยเกิดขึ้นได้ต้องมีการอบรมและฝึกฝน เพราะวินัยเป็นนามธรรมที่เป็นความจริงได้จากการที่มนุษย์ยอมรับ ไม่ใช่ความจริงตามธรรมชาติ ทั้งนี้ Bronson (2000: 32-37) กล่าวว่าช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่มีการพัฒนาวินัยได้มากที่สุด การปลูกฝังวินัยสำหรับเด็กช่วยให้เด็กมั่นใจว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ทำให้เด็กสามารถหลีกเลี่ยงการทำผิด หรือรู้สึกอายต่อการทำผิด อีกทั้งยังช่วยให้เด็กอยู่ในมาตรฐานการยอมรับของสังคมและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ช่วยให้เด็กพัฒนาจิตสำนึก มโนธรรม หรือเสียงจากภายในตนเอง ซึ่งช่วยทำให้สามารถตัดสินใจและควบคุมพฤติกรรมด้วยตนเอง (Hurlock, 1984: 393)

        ดังนั้น การปลูกฝังวินัยให้กับเด็กจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการปลูกฝังวินัยในช่วงปฐมวัย เนื่องจากเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพืชแห่งวินัยในตัวเด็กตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อให้วินัยหยั่งรากลึกลงอย่างมั่นคงมากขึ้น ดังที่พระธรรมปิฎก (2538: 18-22) ได้แสดงธรรมไว้ว่าการสร้างวินัยที่ดีที่สุดต้องอาศัยธรรมชาติของมนุษย์ ด้วยการเริ่มต้นจากการยอมรับว่ามนุษย์ส่วนใหญ่อยู่ด้วยความเคยชิน การสร้างวินัยจึงต้องทำให้วินัยเป็นพฤติกรรมที่เคยชิน โดยพยายามเอาพฤติกรรมที่ดี ที่มีวินัย ให้เด็กทำเป็นครั้งแรกก่อนซึ่งได้แก่ในช่วงปฐมวัย หลังจากนั้นเมื่อเด็กทำบ่อยๆ ซ้ำๆ ก็จะเกิดความเคยชิน และเป็นวิถีชีวิตในที่สุด

        สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (2540: 18) ได้แบ่งวินัยออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย 1) วินัยภายนอก หมายถึง การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งประพฤติปฏิบัติโดยเกรงกลัวอำนาจหรือการถูกลงโทษ เป็นการปฏิบัติที่บุคคลดังกล่าวไม่มีความเต็มใจ ตกอยู่ในภาวะจำยอม หรือถูกควบคุม วินัยภายนอกเกิดจากการใช้อำนาจบางอย่างบังคับให้บุคคลปฏิบัติตาม ซึ่งบุคคลอาจกระทำเพียงชั่วขณะเมื่ออำนาจนั้นคงอยู่ แต่หากอำนาจบังคับหมดไป วินัยก็จะหมดไปด้วยเช่นกัน และ 2) วินัยในตนเอง หมายถึง การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเลือกข้อประพฤติปฏิบัติสำหรับตนขึ้นโดยสมัครใจ ไม่มีใครบังคับหรือถูกควบคุมจากอำนาจใดๆ ข้อประพฤติปฏิบัตินี้ต้องไม่ขัดกับความสงบสุขของสังคม วินัยในตนเองเกิดจากความสมัครใจของบุคคลที่ผ่านการเรียนรู้อบรม และเลือกสรรไว้เป็นหลักปฏิบัติประจำตน

        เอกสารทางวิชาการหลายฉบับได้ระบุไว้อย่างสอดคล้องกันว่า เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการปลูกฝังวินัยให้แก่เด็ก คือ การพัฒนาให้เด็กมี "วินัยในตนเอง" (Dinkmeyer, McKay, and Dinkmeyer, 1989: 106; Gordon and Browne, 1996: 15; Hendrick, 1996: 276; Marshall, 2001: 67) เพราะการที่เด็กมีวินัยในตนเองเป็นปัจจัยสำคัญในการที่เด็กจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ช่วยให้สังคมมีความสงบสุข และเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งนี้ วินัยในตนเอง (Self discipline) เป็นคุณลักษณะของบุคคลที่มีผู้ให้ความหมายไว้ต่างๆ กัน เอกสารส่วนใหญ่ได้ให้ความหมายของวินัยในตนเองในมุมมองด้านพฤติกรรมและการเรียนรู้ทางสังคม โดยอาจสรุปได้ว่า วินัยในตนเอง หมายถึง การควบคุมตนเองให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ได้เรียนรู้มาว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นที่ยอมรับ และละเว้นการปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นที่ยอมรับ โดยสมัครใจ โดยที่การประพฤติปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อตนเอง และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

        การสำรวจความคิดเห็นของผู้คนที่มีต่อการศึกษาของสมาคมไฟ เดลตา แคปพา (Phi Delta Kappa) มีคำถามหนึ่งซึ่งถามว่า "ปัญหาสำคัญที่โรงเรียนต้องเผชิญคือปัญหาอะไร" พบว่า ปัญหาเรื่องวินัยเป็นปัญหาที่ถูกระบุไว้ในอันดับต้นๆ (Charles, 2002: 4) ผลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าสังคมกำลังประสบกับปัญหาของการขาดวินัย และอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยกำลังประสบกับปัญหาความไร้วินัยของคนในสังคมเช่นกัน เห็นได้จากการที่สังคมเต็มไปด้วยอันตรายและความเสี่ยงหลายประการ ทั้งปัญหายาเสพติด การแก่งแย่งชิงดี การทุจริตและประพฤติมิชอบ การขาดความรับผิดชอบ การทารุณและทำร้ายร่างกาย อาชญากรรม ฯลฯ ทั้งนี้ ข้อมูลจากการศึกษาภาพอนาคตและคุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ของ เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2546: 93-96) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "คนในอนาคตควรเป็นคนที่มีระเบียบวินัย เพราะในโลกยุคแห่งการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก การมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดระบบระเบียบข้อมูลข่าวสารให้อยู่ในที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ลักษณะชีวิตของการมีระเบียบวินัยมีความสำคัญในอนาคต ไม่ควรปล่อยให้เกิดสภาพของ ‘ทำอะไรตามใจคือไทยแท้' ต่อไป มิเช่นนั้นจะเกิดความสับสน ไร้ระเบียบ ก่อให้เกิดการขาดประสิทธิภาพ ขาดความน่าเชื่อถือ อันจะเป็นการยากที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้"

        การที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติ ประกอบกับผลการวิจัยเอกสารภาพอนาคตและคุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ดังกล่าวข้างต้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างวินัย-ในตนเองให้แก่เด็กเพื่อเป็นพื้นฐานให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัยต่อไปในอนาคต