Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

พฤติกรรมที่ผิดพลาดของเด็กแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 พฤติกรรมที่ผิดพลาดจากการทดลอง (Experimentation mistaken behavior)
        เป็นพฤติกรรมที่ผิดพลาดที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็น และความต้องการที่จะมีส่วนร่วมของเด็ก เด็กปฐมวัยมีความสนใจที่จะสำรวจสิ่งแวดล้อม สร้างความสัมพันธ์ และร่วมกิจกรรม เด็กๆ จะทำสิ่งต่างๆ เพื่อทดลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น เด็กอาจกระทำสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับเพียงเพื่อจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ หรือเมื่อเผชิญกับข้อขัดแย้งที่เด็กไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ในขั้นนี้เด็กอยู่ในกระบวนการของการเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ๆ

ระดับที่ 2 พฤติกรรมที่ผิดพลาดจากอิทธิพลทางสังคม (Socially influenced mistaken behavior)
        เป็นพฤติกรรมที่ผิดพลาดที่เกิดจากการเรียนรู้จากการเลียนแบบบุคคลที่มีอิทธิพลต่อเด็ก บุคคลเหล่านี้อาจจะเป็นพ่อแม่ สมาชิกในครอบครัว เพื่อน ครู หรือบุคคลอื่นๆ ในโรงเรียน เด็กมักมีความปรารถนาที่จะทำให้บุคคลเหล่านี้ชื่นชม และสนใจ ในขั้นนี้กระบวนการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นแล้ว และจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง

ระดับที่ 3 พฤติกรรมที่ผิดพลาดจากความต้องการไม่ได้รับการตอบสนอง (Strong needs mistaken behavior)
        ความต้องการดังกล่าวอาจเป็นความต้องการทางร่างกาย เช่น ความหิว ปัญหาสุขภาพอนามัย ความง่วง การบาดเจ็บ การถูกทำร้ายร่างกาย หรืออาจเป็นความต้องการทางอารมณ์ เช่น การถูกล้อเลียน การตายของพ่อหรือแม่ การหย่าร้าง ความรุนแรงภายในครอบครัว เด็กๆ อาจแสดงพฤติกรรมที่ผิดพลาดเพราะไม่สามารถที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นในหลายๆ ลักษณะ เช่น หงุดหงิดง่าย ท้อถอย ไม่สนใจสิ่งต่างๆ แสดงความรุนแรงต่อบุคคลหรือสิ่งต่างๆ

        ในขั้นนี้เป็นพฤติกรรมที่ผิดพลาดที่รุนแรง จำเป็นต้องมีการค้นหาสาเหตุของการแสดงพฤติกรรมและให้การช่วยเหลือแก่เด็กอย่างเร่งด่วน
การศึกษาพฤติกรรมของเด็ก ทั้งในด้านพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็ก พฤติกรรมที่นำไปสู่การมีวินัยในตนเองของเด็กปฐมวัย และมุมมองของครูต่อพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของเด็กดังกล่าวข้างต้น ช่วยให้ครูเข้าใจธรรมชาติของเด็ก สามารถส่งเสริมให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และสามารถควบคุมตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนำไปสู่การที่เด็กมีวินัยในตนเองในที่สุด

ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของครูกับวินัยในตนเองของเด็ก

        ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของครู คือ อำนาจ (Power) ซึ่งหมายถึงความสามารถที่จะชักจูงโน้มน้าวคนอื่น เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ส่งกับผู้รับ เหมือนกับการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ (วิเชียร วิทยอุดม, 2547: 364) การวิเคราะห์พื้นฐานของอำนาจที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง คือ การวิเคราะห์ของ French และ Raven (1960 cited in Tauber, 1995: 20-25) ที่ชี้ให้เห็นว่าพื้นฐานเบื้องต้นของอำนาจของบุคคลมี 5 ประเภท ตามแหล่งที่มาของอำนาจ ดังนี้

1. อำนาจจากการบีบบังคับ (Coercive power) พื้นฐานอยู่ที่ความสามารถของบุคคลที่จะลงโทษ บุคคลอื่นยอมทำตามเพราะความกลัวที่จะถูกลงโทษ ครูที่ใช้อำนาจแบบนี้จะบังคับให้เด็กแสดงพฤติกรรมตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสมด้วยวิธีการต่างๆ เด็กจะยอมทำตามเพราะกลัวครูลงโทษ การใช้อำนาจเช่นนี้ส่งผลกระทบในทางลบต่อเด็ก เช่น เก็บกด รู้สึกว่าตนไม่มีคุณค่า สับสน กลัว เป็นต้น

2. อำนาจจากการให้รางวัล (Reward power) พื้นฐานอยู่ที่การมีโอกาสเข้าถึงรางวัล บุคคลอื่นยอมทำตามเพราะความปรารถนาอยากได้รับรางวัล ครูจำนวนมากมักใช้รางวัลในการจูงใจให้เด็กประพฤติปฏิบัติตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสม แต่เป็นที่น่าคิดว่าการทำเช่นนี้เปรียบเสมือนการสอนให้เด็กทำสิ่งต่างๆ เพียงเพื่อหวังผลตอบแทนเท่านั้น

3. อำนาจตามสิทธิ (Legitimate power) พื้นฐานอยู่ที่การถือครองตำแหน่งอย่างเป็นทางการของบุคคล บุคคลอื่นยอมทำตามเพราะเชื่อในความชอบด้วยกฎหมายของผู้ถือครองอำนาจ การทำหน้าที่ "ครู" ทำให้ครูมีสิทธิในการจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ในห้องเรียน ผู้ที่เป็นครูจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้อำนาจแบบนี้อย่างเหมาะสม

4. อำนาจจากความเชี่ยวชาญ (Expert power) พื้นฐานอยู่ที่ความเชี่ยวชาญของบุคคลและการมีความรู้ในขอบเขตที่แน่นอน บุคคลอื่นยอมทำตามเพราะเชื่อในความรู้หรือความชำนาญ ครูที่มีอำนาจในลักษณะนี้เป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ครูจะรู้ว่าควรจะพูดและปฏิบัติอย่างไร และรู้ตัวว่าทำไมจึงพูดหรือปฏิบัติเช่นนั้น

5. อำนาจจากการยอมรับ (Referent power) พื้นฐานอยู่ที่ความดึงดูดใจของบุคคลที่มีต่อบุคคลอื่นๆ บุคคลอื่นยอมทำตามเพราะยอมรับนับถือและชอบในตัวของผู้ถือครองอำนาจ เป็นอำนาจที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อพฤติกรรมของเด็ก ครูที่ใส่ใจต่อเด็ก ยุติธรรม เสียสละ และปฏิบัติต่อเด็กอย่างยอมรับนับถือในความแตกต่างของเด็ก จะได้รับการยอมรับนับถือจากเด็ก การมีอำนาจในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดจากพรสวรรค์ แต่เป็นคุณลักษณะภายในที่ครูสามารถฝึกฝนได้

French และ Raven สรุปว่าอำนาจ 5 ประเภทนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. อำนาจที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่ (Positional power) ประกอบด้วยอำนาจจากการบีบบังคับ อำนาจจากการให้รางวัล และอำนาจตามสิทธิ

2. อำนาจส่วนบุคคล (Personal power) ประกอบด้วยอำนาจจากความเชี่ยวชาญ และอำนาจจากการยอมรับ
ครูที่ใช้อำนาจจากการบีบบังคับ และอำนาจจากการให้รางวัล จะใช้การควบคุม (Control) ให้เด็กยอมทำตาม ครูที่ใช้อำนาจตามสิทธิจะใช้การจัดการ (Manage) เพื่อให้เด็กยอมทำตาม การใช้อำนาจทั้ง 3 แบบนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กอย่างรวดเร็วแต่ไม่คงทน และแม้ว่าเด็กจะยอมทำตาม แต่ก็อาจจะเกิดการต่อต้านด้วย ส่วนครูที่ใช้อำนาจจากความเชี่ยวชาญ และอำนาจจากการยอมรับจะใช้การชักจูงโน้มน้าว (Influence) ให้เด็กเกิดการยอมรับและปฏิบัติตาม ทำให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมีลักษณะถาวรมากกว่า ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยของ Kaplan, Kanat-Maymon และ Roth (2005: 408) ซึ่งได้ศึกษาเชิงสำรวจ เรื่อง ผลจากพฤติกรรมการควบคุมของครูที่มีต่อการควบคุมอารมณ์และการเรียนรู้ของเด็ก ผลการวิจัยพบว่า การที่ครูพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กตามที่ครูต้องการที่ใช้การสั่งโดยตรง หรือใช้การควบคุมในระดับมาก ไม่ยอมให้เด็กแสดงความคิดเห็นใดๆ ส่งผลทางลบต่ออารมณ์ของเด็ก ทำให้เด็กเกิดความโกรธ ความวิตกกังวล และไม่เกิดการเรียนรู้ในพฤติกรรมที่ครูต้องการอย่างแท้จริง
        Edwards (1997: 23) ได้นำเสนอแผนภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมของครู (Teachers' control) และการปกครองตนเองของเด็ก (Students' autonomy) ดังแผนภูมิต่อไปนี้

 ความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมของครูและการปกครองตนเองของเด็ก
images/stories/1001.jpg

        จากแผนภูมิดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าเมื่อครูใช้การควบคุมมากเด็กจะมีโอกาสปกครองตนเองน้อย และการปกครองตนเองของเด็กจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเมื่อครูลดการควบคุมของครูให้น้อยลง ความสัมพันธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับที่ Burden (1995: 36-56) ได้กล่าวถึงระดับการควบคุมของครูกับการควบคุมตนเองของเด็กไว้ โดย Burden แบ่งการควบคุมของครูเป็น 3 ระดับ ดังนี้

1. ควบคุมสูง (High teacher control) ครูที่ใช้การควบคุมแบบนี้เชื่อว่าพัฒนาการของเด็กเป็นผลมาจากเงื่อนไขภายนอก เด็กๆ จะถูกหล่อหลอมโดยสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่ได้เกิดจากศักยภาพภายในตัวเด็กเอง ดังนั้น ครูและผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องจึงเป็นผู้เลือก และระบุว่าพฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรมที่เด็กควรประพฤติปฏิบัติ รวมถึงการเสริมแรงเพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ในขณะที่ต้องคอยควบคุมไม่ให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เด็กๆ แทบไม่มีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก หรือความสนใจ เนื่องจากความเชื่อที่ว่าผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่าเด็ก ผู้ใหญ่จึงเป็นผู้รับผิดชอบที่จะเลือกว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก
        นอกจากนี้ครูกลุ่มนี้ยังเชื่อว่าครูต้องควบคุมพฤติกรรมของเด็กเพราะเด็กไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ ครูจะเป็นผู้กำหนดกฎและกระบวนการต่างๆ ในการพัฒนาเด็กด้วยตัวครูเอง จากนั้นจึงเสริมแรงให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม และหากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมครูจะต้องหยุดการกระทำของเด็กอย่างรวดเร็ว และจัดการให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่ครูคิดว่าเหมาะสมกว่าแทน

2. ควบคุมปานกลาง (Medium teacher control) ครูที่ใช้การควบคุมแบบนี้เชื่อว่าพัฒนาการของเด็กเกิดจากทั้งปัจจัยภายในตัวเด็กและปัจจัยภายนอก ดังนั้น การควบคุมพฤติกรรมของเด็กจึงเป็นความรับผิดชอบของทั้งครูและเด็ก ครูในกลุ่มนี้จะให้ความสนใจต่อความคิด ความ รู้สึก และความสนใจของเด็กเป็นรายบุคคล ในขณะเดียวกันก็จะสนใจผลที่เกิดขึ้นกับกลุ่มด้วย เด็กจะมีโอกาสในการตัดสินใจและควบคุมพฤติกรรมของตนเองเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยที่ครูยังคงเชื่อว่าครูต้องจัดการเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมบางอย่างด้วยการให้เด็กได้รับรู้และตระหนักถึงผลที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของเด็กเอง เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และปรับพฤติกรรมของตนไปในทางที่เหมาะสม ยิ่งขึ้น
        กฎและกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะกำหนดร่วมกันระหว่างครูและเด็ก โดยที่ครูต้องคอยดูแลให้เด็กแสดงพฤติกรรมตามข้อตกลงที่กำหนดขึ้นร่วมกัน และครูต้องช่วยให้เด็กตระหนักถึงผลที่ตามมาของการตัดสินใจและการกระทำของเด็กเอง

3. ควบคุมต่ำ (Low teacher control) ครูที่ใช้การควบคุมแบบนี้เชื่อว่าเด็กมีความรับผิดชอบต่อการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง และมีความสามารถในการตัดสินใจ ครูจะมีมุมมองต่อเด็กว่าเป็นผู้มีศักยภาพ และให้การยอมรับความคิด ความรู้สึก และความสนใจของเด็กอย่างแท้จริง ครูในกลุ่มนี้จะจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กควบคุมพฤติกรรมของตนเอง
        ครูเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่เด็กในการกำหนดข้อตกลง โดยจัดให้มีการอภิปรายร่วมกันและช่วยให้เด็กตระหนักถึงพฤติกรรมที่เหมาะสม จนกระทั่งสามารถกำหนดเป็นข้อตกลง เมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น ครูจะช่วยให้เด็กรับรู้ปัญหา และตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมเด็กจึงมีอิสระในการปกครองตนเองค่อนข้างสูง ในขณะที่ครูควบคุมในระดับต่ำ

        สรุปได้ว่าพฤติกรรมของครูส่งผลโดยตรงต่อวินัยในตนเองของเด็ก กล่าวคือ หากพฤติกรรมของครูมีการควบคุมมาก ทั้งจากการใช้รางวัล หรือการลงโทษ เด็กจะแสดงพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับเพราะความปรารถนาอยากได้รับรางวัลจากครู หรือเพราะความกลัวที่จะถูกครูลงโทษ การแสดงพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการมีวินัยในตนเองของเด็ก หากพฤติกรรมของครูเกิดจากพื้นฐานอำนาจจากการยอมรับ ภายใต้ระดับการควบคุมที่เหมาะสม ย่อมทำให้เด็กเกิดการยอมรับและปฏิบัติตามด้วยตัวเด็กเอง การแสดงพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับของเด็กจึงเกิดจากความสมัครใจของตัวเด็กเอง เป็นการแสดงพฤติกรรม
ที่เกิดจากวินัยในตนเองของเด็ก