Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
การสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย
โต๊ะทำงานห้องครูแมว - งานเขียนครูแมว
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

4. การจัดสภาพแวดล้อม
        วิธีการที่มีประสิทธิภาพในการสร้างวินัยให้แก่เด็ก คือการจัดระเบียบในสิ่งแวดล้อม ทั้งวัตถุสิ่งของต่างๆ พร้อมทั้งการตระเตรียมพื้นที่ เพื่อให้เด็กสามารถควบคุมตนเองได้ เป็นการควบคุมสถานการณ์ ไม่ใช่ควบคุมเด็ก ด้วยการจัดโครงสร้างของสิ่งแวดล้อม (Dinkmeyer
et al., 1989: 107-122) ครูมีบทบาทในการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างวินัยในตนเองให้แก่เด็กปฐมวัย ดังนี้

        4.1 การจัดสภาพแวดล้อมให้มีระเบียบเรียบร้อย การจัดห้องเรียนมีผลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมของครูและเด็ก ห้องเรียนที่ส่งเสริมวินัยในตนเองให้แก่เด็กต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของความมีระเบียบเรียบร้อย สะอาด สวยงาม และปลอดภัย Leatzow และคณะ (2542: 71) กล่าวว่า ห้องเรียนควรมีบรรยากาศแบบสบายๆ ครูต้องจัดวัตถุบางอย่างเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศที่อ่อนโยนและอบอุ่น เช่น มีเก้าอี้นวม มีหมอนนิ่มๆ ติดรูปภาพหรือป้ายต่าง ฝาผนังบางส่วนควรปล่อยว่างไว้บ้าง บริเวณห้องเรียนแบ่งออกเป็นศูนย์การเรียนหรือมุมประสบการณ์ต่างๆ และจัดวางเครื่องมือเครื่องใช้ หรือของเล่นเป็นหมวดหมู่ไว้ในแต่ละศูนย์อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ครูควรจัดให้ของทุกอย่างมีที่เก็บ ดูแลห้องเรียนให้สะอาด หากมีวัสดุที่ชำรุดควรซ่อมแซม หรือนำออกไปให้พ้นมือเด็ก ไม่ปล่อยให้มีวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นอันตรายต่อเด็กอยู่ในที่ๆ เด็กหยิบถึง เช่น ของที่มีปลายแหลมคม น้ำยาทำความสะอาด การที่ครูดูแลห้องเรียนให้เรียบร้อย สะอาด สวยงาม และปลอดภัยอยู่เสมอ เด็กจะเห็นแบบอย่างของความมีระเบียบเรียบร้อยและเรียนรู้จากการเลียนแบบของครู

        4.2 การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง อุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในห้องเรียนควรเอื้อให้เด็กทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ครูควรเลือกใช้โต๊ะ เก้าอี้ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่เหมาะสมกับขนาดของเด็ก จัดวางอุปกรณ์ในชั้นเตี้ยๆ ในระดับสายตาเด็ก เพื่อให้เด็กมองเห็นได้ชัดเจน สามารถหยิบใช้และจัดเก็บได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่อยู่สูงจนเป็นอันตรายเวลาเอื้อมหยิบหรือต้องพึ่งพาครูให้หยิบให้ตลอดเวลา มีที่เก็บของสำหรับเด็ก เมื่อมีสิ่งของที่เด็กจะนำกลับบ้านจะนำไปไว้ในช่องของเด็กได้ มีตะกร้าทิ้งขยะวางไว้ในที่จะมีการทิ้งขยะเป็นประจำ จัดวางของเล่นของใช้คำนึงถึงการใช้สอย เช่น ของต้องใช้ร่วมกันควรวางไว้ใกล้ๆ กัน ของเล่นที่ต้องมีการประกอบหรือสร้างควรมีกล่องหรือตะกร้าสำหรับเก็บที่มีขนาดและน้ำหนักพอดี ไม่ใหญ่เกินไปหรือหนักเกินไปที่เด็กจะเคลื่อนย้ายได้ด้วยตนเอง ครูอาจจัดทำสัญลักษณ์ ที่มีความหมายต่อเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กเก็บของเข้าที่ด้วยตนเอง โดยสัญลักษณ์อาจทำมาจากสื่ออุปกรณ์ของจริง ภาพถ่ายหรือภาพสำเนา ภาพวาด ภาพโครงร่างหรือภาพประจุด หรือบัตรคำติดคู่กับสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น การจัดวางโดยให้เด็กหยิบใช้และเก็บได้เองทำให้เด็กเกิดความรู้สึกพึงพอใจในการที่จะมีอิสระในการพึ่งพาตนเอง (จีระพันธุ์ พูลพัฒน์, 2547: 3-4; พัชรี ผลโยธินและคณะ, 2543: 22-23)

        4.3 การจัดสภาพแวดล้อมที่ป้องกันการเกิดปัญหาพฤติกรรม การจัดห้องเรียนที่ดีจะช่วยส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางบวกระหว่างเด็ก ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาพฤติกรรมได้การจัดแบ่งพื้นที่ต้องมีขนาดพอเหมาะและสมเหตุสมผล เช่นมีสถานที่กว้างเพียงพอสำหรับทำกิจกรรมกลุ่มใหญ่ได้โดยไม่เบียดเสียดกัน มุมเล่นมีขนาดกว้างพอสมควรที่เด็กจะเข้าไปเล่นร่วมกันเป็นกลุ่มได้ ถ้าศูนย์การเรียนใดมีเด็กแออัดอยู่เสมอ ครูควรขยายเนื้อที่หรือปรับเปลี่ยนการใช้ เช่น จำกัดจำนวนเด็กที่จะเข้าไปเล่น ส่วนศูนย์ที่เด็กไม่สนใจเข้าไปทำกิจกรรมก็ควรจัดให้น่าสนใจยิ่งขึ้นโดยการนำอุปกรณ์ใหม่ที่เร้าความสนใจของเด็กเข้าไปจัดวาง การจัดพื้นที่ต้องเอื้อให้เด็กสามารถเคลื่อนที่ไปศูนย์ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องเดินผ่านกลางศูนย์ใดศูนย์หนึ่ง จัดศูนย์การเรียนที่ต้องการความสงบให้ห่างจากศูนย์ที่มีเสียงขณะทำกิจกรรม เช่นศูนย์หนังสือห่างจากศูนย์บทบาทสมมุติ และเมื่อแบ่งพื้นที่แล้วครูควรมองดูเด็กได้อย่างทั่วถึงตลอดเวลา การจัดห้องเรียนไม่ปล่อยให้พื้นที่โล่งเกินไปซึ่งกระตุ้นให้เด็กวิ่งเพราะรู้สึกเหมือนสนาม วัสดุอุปกรณ์ที่จัดไว้ควรมีจำนวนเพียงพอสำหรับเด็ก แต่ไม่ควรจัดไว้มากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ครูยังควรจัดให้มีมุมสงบให้เด็กได้มีเวลาไปนั่งสงบใจ โดยไม่มีใครรบกวน เมื่อเกิดอารมณ์เสีย ไม่พอใจ หรือเป็นต้นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย มุมนี้ต้องไม่ใช่ที่ทำโทษ แต่เป็นการพักสักระยะหนึ่งให้สงบพอที่จะร่วมกิจกรรมต่อไปได้ (Brewer, 2004: 178-179; Hendrick, 1996: 284-285 )

        การจัดสภาพแวดล้อมที่ป้องกันการเกิดปัญหาพฤติกรรมนี้ยังรวมถึงการจัดบรรยากาศที่เอื้อให้เด็กควบคุมตนเองได้ด้วย เช่น การเตือนเด็กก่อนที่จะเปลี่ยนกิจกรรม การเล่นนิ้วมือ ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง หรือใช้สัญญาณอื่นที่ตกลงกับเด็กสร้างความต่อเนื่องในการเปลี่ยนกิจกรรม การใช้เสียงดนตรีหรือเพลงที่ผ่อนคลายในห้องเรียนในขณะที่เด็กทำงานหรือนอนพักผ่อน และการดำเนินกิจวัตรประจำวันตามช่วงจังหวะของกิจกรรมประจำวันอย่างสม่ำเสมอ


*** บทความนี้สามารถดาวน์โหลดไฟล์รูปแบบ pdf ได้ (สำหรับผู้ที่สมัครเป็นพันธมิตรครูแมวเท่านั้นค่ะ) ***



ความคิดเห็นผู้ใช้

เสนอแนะโดย toogtig เปิด 2010-07-14 18:19:19

เสนอแนะโดย toogtig เปิด 2010-07-14 18:24:02
บทความของอาจารย์ดีมากค่ะ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อครูปฐมวัยมากทีเดียว ดิฉันขออนุญาตนำไปเผยแพร่ให้เพื่อนครูได้อ่านและนำแนวคิดของอาจารย์ไปทดลองใช้บ้าง เพื่อประโยชน์ต่อครูและเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติจะได้ไหมคะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงได้รับความกรุณาจากอาจารย์ ขอขอบคุณค่ะ

เสนอแนะโดย joyfully1122 เปิด 2012-04-14 16:15:40
ขอบคุณสำหรับบทความที่ดีๆๆๆและมีประโยชน์มากค่ะ

Please login or register to add comments