Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow นวัตกรรมการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน
นวัตกรรมการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

หลักการของนวัตกรรม

1. นิทานเป็นสิ่งที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย การนำนิทานมาเป็นสื่อหลักในการจัดประสบการณ์ช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น
2. การจัดการเรียนรู้ควรตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติของเด็กในการค้นหาความหมาย
3. การจัดการเรียนรู้ต้องเปิดโอกาสให้เด็กกำหนดรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตน
4. การจัดการเรียนรู้ต้องให้ความสำคัญกับบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก
5. เด็กเรียนรู้ได้ดีผ่านกิจกรรมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

วัตถุประสงค์ของนวัตกรรม

1. เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กปฐมวัย
2. เพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีประสบการณ์ทางภาษาที่ครอบคลุมทั้งทางด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนอย่างมีความหมาย
3. เพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาเหมาะสมกับวัย

วิธีการนำนวัตกรรมไปใช้จัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย

        ห้องเรียนที่จะจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานควรมีการจัดวางวรรณกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัยจำนวน 8-10 เท่าของจำนวนเด็ก มีการปรับเปลี่ยนหนังสือที่จัดแสดงตามหน่วยการเรียนรู้ ในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ครูต้องมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากการอ่านที่สัมพันธ์กับหน่วยการเรียนรู้ จัดเวลาให้เด็กมีโอกาสเลือกอ่านอย่างอิสระตามโอกาสสิ่งที่สำคัญ คือ ครูต้องอ่านออกเสียงให้เด็กฟังทุกวันทั้งในลักษณะกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย หากครูสังเกตว่าเด็กสนใจวรรณกรรมเรื่องใดเป็นพิเศษ ให้นำวรรณกรรมเรื่องนั้นมาใช้ในการออกแบบหน่วยการจัดประสบการณ์ หากเด็กสนใจวรรณกรรมมากกว่า 1 เรื่อง ครูอาจใช้การอภิปรายร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปว่าจะนำวรรณกรรมเรื่องใดมาใช้ในการจัดประสบการณ์ต่อไป โดยในช่วยหน่วยการจัดประสบการณ์โดยการใช้วรรณกรรมเป็นฐานสามารถดำเนินการ ดังนี้

        1. อ่านวรรณกรรมให้เด็กฟัง โดยแนะนำชื่อเรื่อง แนะนำชื่อผู้แต่ง และผู้วาดภาพ แล้วจึงอ่านให้เด็กฟัง โดยใช้น้ำเสียง และท่วงทำนองที่เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง เพื่อให้เด็กได้รับอรรถรสของเรื่อง และสนทนากับเด็กเพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวกับชีวิตประจำวันของเด็ก 

        2. กระตุ้นให้เด็กสนทนาเกี่ยวกับตัวละคร วัตถุสิ่งของ ฉาก หรือสถานการณ์ที่สัมพันธ์กับวรรณกรรม โดยใช้คำถามหลายๆ ระดับ ทั้งความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การประเมินค่า และการสร้างสรรค์ การถามคำถามจะกระตุ้นให้เด็กคิดถึงเรื่องราวที่ได้รับฟังมา ได้ไตร่ตรองและทบทวนเกี่ยวกับนิทาน รวมทั้งได้สำรวจความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับนิทานด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็กในการคิด หรือทำกิจกรรมในช่วงต่อไป

        3. วางแผนและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการลงมือกระทำร่วมกับเด็ก และผู้ปกครอง โดยถามความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนรู้จากเด็กและผู้ปกครอง เพื่อออกแบบกิจกรรมที่สัมพันธ์กับวรรณกรรมและสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา กิจกรรมที่จัดควรมีความหลากหลาย ท้าทายเหมาะสมกับวัย ครอบคลุมพัฒนาการทุกด้านของเด็ก และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม โดยมีศิลปะและละครเป็นองค์ประกอบสำคัญของการจัดประสบการณ์
        ตัวอย่างกิจกรรมที่จัดประกอบด้วยการวิเคราะห์ตัวละคร การวิเคราะห์สถานการณ์จากเรื่อง การจัดทำวัตถุสิ่งของ อุปกรณ์ประกอบฉากหรือเครื่องแต่งกายที่สัมพันธ์กับเรื่อง การเล่นละครสร้างสรรค์ การจัดโต๊ะนิทาน การทำหนังสือนิทาน การทำศิลปะแบบร่วมมือ การประดิษฐ์และการสร้าง การเคลื่อนไหวและจังหวะ เพลง คำคล้องจอง การประกอบอาหาร การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ เกมการศึกษา ฯลฯ โดยระหว่างการจัดกิจกรรมในขั้นนี้ครูอาจอ่านวรรณกรรมให้เด็กฟังเพื่อการทบทวน หรือเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ สิ่งที่ครูไม่ควรละเลยคือการจัดสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนให้สัมพันธ์กับเรื่องโดยให้เด็กมีส่วนร่วม

        4. จัดนิทรรศการแสดงสิ่งที่เด็กๆ เรียนรู้ โดยทบทวนกิจกรรมที่จัดแล้วร่วมกับเด็ก ให้เด็กช่วยกันคัดเลือกสิ่งที่ต้องการนำเสนอให้ผู้อื่นรับรู้เกี่ยวกับวิธีการที่เด็กเรียนรู้ และสิ่งที่เด็กเรียนรู้ และร่วมกันจัดนิทรรศการ การจัดนิทรรศการจะช่วยให้เด็กได้จัดระบบความคิด เพื่อหาทางนำเสนอสิ่งที่ตนได้เรียนรู้

ประโยชน์ที่ได้จากการใช้นวัตกรรม

        1. เด็กมีนิสัยรักการอ่านซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญต่อแนวโน้มการเรียนรู้ที่จะอ่านในอนาคต
        2. เด็กมีพื้นฐานความรู้ที่สำคัญด้านภาษาทั้งในด้านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน
        3. เด็กได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาอย่างเป็นองค์รวม