Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow นวัตกรรมการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน
นวัตกรรมการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

นวัตกรรม
"การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน"

ความเป็นมาของนวัตกรรม
        ผู้เขียนได้เลือกรับนวัตกรรมการสอนภาษาแบบธรรมชาติมาใช้ในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยเมื่อปีการศึกษา 2541 หลังจากนั้นการสอนภาษาแบบธรรมชาติเริ่มเป็นที่ยอมรับของครูปฐมวัย โรงเรียนทุ่งมหาเมฆมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งมีการกำหนดให้เป็นนวัตกรรมการสอนของโรงเรียนซึ่งบรรจุไว้ในหลักสูตรสถานศึกษาในเวลาต่อมา
        การที่โรงเรียนใช้การสอนภาษาแบบธรรมชาติในระดับปฐมวัย จึงให้ความสำคัญกับการจัดสภาพแวดล้อมทางภาษา และมีการใช้งบประมาณในการสั่งซื้อนิทานภาพซึ่งเหมาะสมกับเด็กปฐมวัยเข้ามาใช้จำนวนมาก เด็กจึงถูกแวดล้อมด้วยวรรณกรรมสำหรับเด็ก การที่ผู้เขียนอ่านหนังสือภาพให้เด็กฟัง และจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากการอ่านอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เด็กแสดงความสนใจหนังสืออย่างเห็นได้ชัด จึงได้เกิดความคิดเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานขึ้น

      ทั้งนี้ การพัฒนาแนวทางในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยใช้วงจรการบริหารงานคุณภาพ PDCA กล่าวคือ มีการวางแผนงานจากวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ได้กำหนดขึ้น (Plan) การปฏิบัติตามขั้นตอนในแผนงานที่ได้เขียนไว้อย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง (Do) ตรวจสอบผลการดำเนินงานในแต่ล่ะขั้นตอนของแผนงานว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนงานในขั้นตอนใด (Check) และ การปรับปรุงแก้ไขส่วนที่มีปัญหา หรือถ้าไม่มีปัญหาใดๆ ก็ยอมรับแนวทางการปฏิบัติตามแผนงานที่ได้ผลสำเร็จ เพื่อนำไปใช้ในการทำงานครั้งต่อไป (Action)แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

        1. ระยะก่อเกิด (ปีการศึกษา 2544-2548)
        ผู้เขียนสังเกตพบว่าเด็กสนใจนิทานภาพ เรื่องหนูน้อยนิดซึ่งเป็นเรื่องของเด็กหญิงที่ตัวเล็กเท่าหัวแม่มือ ถูกแม่กบขโมยไปจากบ้านเพื่อให้แต่งงานกับลูกชายของนาง หนูน้อยนิดได้รับความช่วยเหลือจากสัตว์ต่างๆ จนในที่สุดได้ไปพบกับเจ้าชายดอกไม้ในที่สุด ผู้เขียนจึงจัดกิจกรรมเพื่อสนองต่อความสนใจของเด็ก เช่น จัดให้เด็กได้เล่นละครสร้างสรรค์ โดยเด็กๆ ช่วยกันทำอุปกรณ์ประกอบการเล่นละคร เด็กๆ ได้ท่องคำคล้องจองดอกไม้ ร้องเพลงกบ พับแมลง และเล่นบทบาทสมมติตอนที่หนูน้อยนิดช่วยนกนางแอ่นที่ตกมานอนหนาว ซึ่งเชื่อมโยงไปยังการมีจิตใจที่ดีงามของหนูน้อยนิด นอกจากนี้เด็กยังมีโอกาสได้เปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของนิทานเรื่องหนูน้อยนิดและหนูน้อยหัวแม่มือซึ่งเป็นนิทานที่มีโครงเรื่องเดียวกันอีกด้วย การจัดกิจกรรมในช่วงนี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนนัก แต่ลักษณะของกิจกรรมที่จัดตอบสนองความสนใจของเด็กได้ เพื่อนครูในโรงเรียนเกิดความสนใจจึงนำไปจัดที่ห้องเรียนของตน และจัดอย่างต่อเนื่องทั้ง 4 ปี

        2. ระยะปรับเปลี่ยน (ปีการศึกษา 2549)
        คณะครูอนุบาลได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน โดยทำเป็นการวิจัยปฏิบัติการแบบรวมพลัง (Collaborative Action Research) มีจุดหมายเพื่อพัฒนาชุดการจัดประสบการณ์ส่งเสริมพัฒนาการด้านการอ่านขั้นต้นของเด็กปฐมวัยโดยใช้แนวคิดการจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานและแนวคิดธรรมชาติการเรียนรู้ของสมอง และศึกษาผลของการใช้ชุดการจัดประสบการณ์ฯ ที่มีต่อพัฒนาการด้านการอ่านของเด็กปฐมวัยโรงเรียนทุ่งมหาเมฆ
        การดำเนินการในครั้งนี้มีการเลือกวรรณกรรมสำหรับเด็กร่วมกันเพื่อจัดทำชุดการจัดประสบการณ์ นิทานที่นำมาจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กประกอบด้วย 1) หัวผักกาดยักษ์ 2) ข้าวไข่เจียว..เดี๋ยวเดียวอร่อยจัง 3) เบิ้มแมวใหญ่กับจ้อยแมวเล็ก 4) แมว 11 ตัวกับยักษ์อุฮิอะฮะ 5) เพื่อนใหม่ของลุงหมี โดยกำหนดกรอบของการจัดกิจกรรม ดังนี้

กิจกรรม ยุทธศาสตร์ที่ใช้ 
 1. อ่านวรรณกรรมให้เด็กฟัง  1. ให้เด็กตอบคำถาม 6 ระดับ ได้แก่ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า
 2. กิจกรรมที่สัมพันธ์กับวรรณกรรม  2. กิจกรรมการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ
 3. เกมการศึกษา  3. เกมภาษาจากวรรณกรรม ได้แก่ เกมเรียงลำดับ-เหตุการณ์จากเรื่อง เกมภาพตัดต่อ เกมสังเกต-รายละเอียดของภาพ และเกมจับคู่ภาพกับคำ

        ผลการดำเนินงาน พบว่า หลังการทดลองใช้ชุดการจัดประสบการณ์ฯ เด็กปฐมวัยโรงเรียนทุ่งมหาเมฆ มีพัฒนาการด้านการอ่านอยู่ในขั้นที่สูงขึ้น แต่จากการประชุมเพื่อสะท้อนผลหลังจาการปฏิบัติ คณะครูมีความเห็นว่าชุดประสบการณ์ชุดนี้ยังแปลกแยกจากกิจวัตรประจำวันของเด็ก จึงตกลงกันที่จะพัฒนาแนวทางการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานที่สามารถบูรณาการกับกิจวัตรประจำวันได้อย่างราบรื่น และนำไปสู่การพัฒนาเด็กอย่างแท้จริงต่อไป

        3. ระยะพัฒนา (ปีการศึกษา 2550-2553)

        การจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานได้ถูกระบุไว้ในกำหนดการสอนรายปี โดยมีลักษณะของการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้จากวรรณกรรมกับกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง และกิจกรรมเกมการศึกษา ซึ่งเป็น 6 กิจกรรมหลักที่โรงเรียนใช้ในการจัดกิจกรรมประจำวันให้แก่เด็กปฐมวัย

        การจัดประสบการณ์เน้นการออกแบบกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจของเด็กซึ่งสัมพันธ์กับวรรณกรรมกรรมที่เด็กชื่นชอบ และสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของโรงเรียนทุ่งมหาเมฆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาอย่างเป็นองค์รวม

        4. ระยะเติมเต็มให้สมบูรณ์ (ปีการศึกษา 2554-2555)
        การจัดประสบการณ์ดังที่กล่าวในระยะพัฒนานั้นเป็นการจัดเฉพาะช่วงเวลา หากพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่าเป็นหน่วยการเรียนรู้หน่วยหนึ่งเท่านั้น หากจะใช้คำว่าการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานแล้ว ควรจะต้องกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้สนใจนำไปใช้ซึ่งอาจไม่ได้มีพื้นฐานด้านการสอนภาษาแบบธรรมชาติ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง ผู้เขียนจึงได้ทดลองกำหนดเงื่อนไขการใช้เพิ่มเติม ดังนี้

        1) มีวรรณกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัยจำนวน 8-10 เท่าของจำนวนเด็ก
        2) มีการจัดวางหนังสือไว้ให้เด็กเลือกอ่านอย่างอิสระ
        3) มีการปรับเปลี่ยนหนังสือที่จัดแสดงตามหน่วยการเรียนรู้
        4) มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากการอ่านในแต่ละหน่วยการเรียนรู้
        5) มีการอ่านออกเสียงให้เด็กฟังทุกวันทั้งในลักษณะกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย