Skip to content

ห้องเรียนคุณครูแมว

Wide screen resolution Increase font size Decrease font size Default font size default color black color cyan color green color red color
ลานหน้าห้อง arrow โต๊ะทำงาน arrow งานเขียนครูแมว arrow การจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน (1)
การจัดประสบการณ์โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน (1)
เขียนโดย นฤมล เนียมหอม   

 

 การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐาน (1)

 

        การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานเป็นนวัตกรรมด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กปฐมวัย อีกทั้งยังเอื้อให้เด็กมีเจตคติที่ดีต่อการแสวงหาความรู้ ช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่าการอ่านเป็นเรื่องที่สนุกสนาน มีแนวทางในการจัดประสบการณ์ ดังนี้

          1.  การจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศให้เด็กแวดล้อมด้วยวรรณกรรมสำหรับเด็ก

          2. การจัดหน่วยประสบการณ์วรรณกรรมสำหรับเด็ก 

1.  การจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศให้เด็กแวดล้อมด้วยวรรณกรรมสำหรับเด็ก

          1.1  จัดมุมหนังสือในห้องเรียน ซึ่งมีวรรณกรรมสำหรับเด็กที่หลากหลาย อย่างน้อย 10 เท่าของจำนวนเด็ก มีการเปลี่ยนแปลงหนังสือที่จัดแสดงไว้ให้สอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้ เด็กที่ได้อยู่ในห้องเรียนที่มีวรรณกรรมสำหรับเด็กที่มีคุณภาพมีแนวโน้มที่จะรักการอ่าน และการอ่านวรรณกรรมที่ดีจะกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตในอนาคตของเด็ก อีกทั้งยังเป็นส่วนที่กระตุ้นให้เด็กมีความต้องการอ่านบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในการเรียนในระดับที่สูงขึ้น

 

 

 

 ตัวอย่างการจัดมุมหนังสือในห้องเรียนอนุบาล


          1.2  อ่านหนังสือให้เด็กฟัง เป็นกิจกรรมที่ครูเลือกวรรณกรรมสำหรับเด็กที่ดีมาอ่านให้เด็กฟังอย่างน้อยวันละ 1 เล่ม ครูควรจัดให้มีช่วงเวลาเฉพาะสำหรับการอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง (Story Time) กิจกรรมนี้อาจจะจัดเป็นกิจกรรมกลุ่มย่อยหรือจัดสำหรับเด็กกลุ่มใหญ่ก็ได้ โดยครูเลือกหนังสือที่เด็กสนใจมาอ่านให้เด็กฟัง ครูควรอ่านชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ผู้วาดภาพประกอบ อ่านเนื้อเรื่องพร้อมกับชี้ข้อความขณะที่อ่าน เปิดโอกาสให้เด็กได้ถามคำถาม หรือสนทนาเกี่ยวกับตัวละคร หรือเรื่องราวในหนังสือ ครูอาจเชิญชวนให้เด็กคาดเดาเหตุการณ์ในเรื่องบ้าง และควรเตรียมข้อมูลที่ช่วยให้เด็กเข้าใจคำยากที่ปรากฏในเรื่อง ถามคำถามที่กระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ และจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากเรื่องที่อ่านให้เด็กเลือกทำตามความสนใจ เช่น เตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ปรากฏในเรื่องในเด็กได้เล่นสมมุติ เตรียมภาพให้เด็กได้เรียงลำดับเรื่องราว เป็นต้น

               ช่วงเวลาที่ครูอ่านหนังสือให้เด็กฟังนี้ควรเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น และมีความสุข ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็ก ครูควรอ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวันเพื่อช่วยให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน และช่วยให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับการใช้หนังสือ การใช้สิ่งชี้แนะในการคาดคะเนและตรวจสอบการคาดคะเน 

 

ครูอ่านหนังสือให้เด็กทั้งห้องฟังในช่วงเวลานิทาน


ครูอ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นกลุ่มย่อยตามที่เด็กสนใจ


ครูอ่านหนังสือให้เด็กฟังก่อนนอนพักผ่อนช่วงกลางวัน


เจ้าหน้าที่ห้องสมุดอ่านหนังสือให้เด็กฟัง

 

ผู้ใหญ่ที่มาที่ห้องเรียนอ่านหนังสือให้เด็กฟัง

 

           1.3  จัดเวลาให้เด็กเลือกอ่านอย่างอิสระ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กเลือกอ่านตามความสนใจ สื่อที่ใช้ในการอ่านอาจเป็นหนังสือประเภทต่างๆ คำคล้องจอง เนื้อเพลง หรือสื่อต่างๆ เช่น ป้ายข้อตกลงต่างๆ ในห้องเรียน ป้ายประกาศเตือนความจำ คำแนะนำในการใช้และเก็บของเล่น คำขวัญ คำคล้องจองประจำมุม ป้ายสำรวจชื่อเด็กที่มาโรงเรียน ป้ายแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ป้ายอวยพรวันเกิด รายการอาหารและของว่างประจำวัน ปฏิทิน รายงานอากาศประจำวัน และป้ายอวยพรวันเกิดเพื่อน เป็นต้น

          ครูควรจัดให้เด็กมีเวลาเลือกอ่านอย่างอิสระตามความสนใจ และอาจจัดทำบันทึกการอ่านของเด็ก โดยการให้เด็กเล่าหรือพูดคุยเรื่องที่อ่านให้ครูหรือเพื่อนฟัง ครูช่วยบันทึกสิ่งที่เด็กอ่าน หรืออาจให้เด็กจดชื่อหนังสือที่ตนอ่านลงในสมุดบันทึก

 

   
   
   

เด็กเลือกอ่านอย่างอิสระจากสื่อที่หลากหลาย ในบรรยากาศที่มีความสุข


           1.5 จัดกิจกรรมวางทุกงาน อ่านทุกคน ครูจัดให้มีช่วงเวลาเฉพาะที่เด็กทุกคนรวมทั้งครูเลือกหนังสือมาอ่านตามลำพัง ช่วงเวลานี้เด็กจะได้เลือกหนังสือที่ตนชื่นชอบหรือสนใจมาอ่าน กิจกรรมนี้ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีต่อวัน เป็นเวลาที่เด็กมีอิสระในการเลือกอ่านโดยครูไม่ต้องมอบหมายงานต่อเนื่องจากการอ่านให้เด็กทำ

 

เด็กและครูเลือกหนังสือที่ตนสนใจมาอ่านในกิจกรรมวางทุกงาน อ่านทุกคน

 

          1.5  จัดกิจกรรมต่อเนื่องจากวรรณกรรม ครูเลือกวรรณกรรมสำหรับเด็กที่สัมพันธ์กับสาระที่ควรเรียนรู้ของหน่วยการเรียนรู้มาอ่านให้เด็กฟัง ออกแบบกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือกระทำอย่างสอดคล้องกับวรรณกรรมที่อ่าน

 

ตัวอย่างกิจกรรมต่อเนื่องจากวรรณกรรม เรื่อง ขนมครกน่าแคะ

เมื่อเด็กเรียนรู้ในหน่วยหนูรักเมืองไทย

 

ตัวอย่างกิจกรรมต่อเนื่องจากวรรณกรรม เรื่อง จับกินให้หมดเลย!

เมื่อเด็กเรียนรู้ในหน่วยอิ่มอร่อย

 

ตัวอย่างกิจกรรมต่อเนื่องจากวรรณกรรม เรื่อง ข้าวไข่เจียว เดี๋ยวเดียว อร่อยจัง

เมื่อเด็กเรียนรู้ในหน่วยอิ่มอร่อย

 


ตัวอย่างกิจกรรมต่อเนื่องจากวรรณกรรม เรื่อง แม่มดดำปี๋

เมื่อเด็กเรียนรู้ในโครงการเงา

 

 


ความคิดเห็นผู้ใช้

Please login or register to add comments